สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ระบุว่า ในไตรมาส 2/53 อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมีอัตราเติบโต 9.1% ทำให้ครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทยขยายตัวเฉลี่ยถึง 10.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการขยายตัวเฉลี่ยไตรมาสที่สูงสุดในรอบ 15 ปี
ดังนั้น สภาพัฒน์จึงได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 53 เพิ่มขึ้นเป็นเติบโต 7-7.5% จากเดิมคาดไว้ 3.5-4.5% และในปีหน้าคาดว่าจะเติบโตได้ในระดับ 4-5% หากการบรรยากาศการลงทุนยังคงดีอย่างต่อเนื่อง
นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการ สภาพัฒน์ ระบุว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรก ปัจจัยหลักคือการได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และความมั่นใจของนักลงทุน ส่งผลดีต่อการส่งออก การลงทุน และการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น แม้จะมีเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในช่วงเดือนมี.ค.-ก.ค.ซึ่งมีผลกระทบต่อการท่องเที่ยว แต่เศรษฐกิจครึ่งปีแรกก็ยังเติบโตได้ดี
จากนี้ในไตรมาส 3/52 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 6-7% และในไตรมาส 4/53 อาจชะลอลงเหลือเติบโต 1-2% เป็นผลจากปัจจัยทางเทคนิค เพราะจะเห็นว่าอัตราการขยายตัวครึ่งปีแรกเติบโตสูงมาก ซึ่งในช่วงครึ่งปีหลัง GDP เฉลี่ยอาจเติบโตได้ 4-5% ซึ่งเป็นการปรับฐาน
และคาดว่าหลังจากไตรมาส 4/53 ไปแล้ว GDP ในแต่ละไตรมาสจะเติบโตในระดับ 4-5%ไปอีกหลายไตรมาส ซึ่งถือว่าเป็นการเติบโตในระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและมีเสถียรภาพในระยะยาว
"Q1/54 ถ้าหากเศรษฐกิจจะโตแค่ 2% ก็อย่าตกใจ เพราะไตรมาส 1/53 เศรษฐกิจเติบโตมาก...แต่หากการลงทุนในประเทศยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ก็ยังมีโอกาสที่ GDP จะโตได้ 4-5%"เลขาธิการ สภาพัฒน์ กล่าว
*ศก.โลกชะลอแต่ไม่ซบเซา-การเมืองผ่อนคลาย-น้ำมันไม่ผันผวนหนุนศก.ไทยโต
สภาพัฒน์ปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 53 เพิ่มขึ้นเป็นเติบโต 7-7.5% จากเดิมคาดไว้ 3.5-4.5% อยู่ภายใต้สมมติฐานสำคัญ คือ เศรษฐกิจโลกชะลอตัวแต่ไม่กลับสู่ภาวะซบเซา, การเมืองในประเทศเริ่มผ่อนคลายและต้องไม่เกิดความรุนแรง, ราคาน้ำมันและเงินเฟ้อไม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อัตราดอกเบี้ยและสภาพคล่อง ยังสนับสนุบการขยายสินเชื่อและการลงทุน, สถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงในเดือนก.ย.-ต.ค.ไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อผลผลิตทางการเกษตร
ส่วนปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ มาจากสภาพแวดล้อมทางด้านเศรษฐกิจและการค้าของโลกช่วงครึ่งปีหลังที่ยังเอื้อต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย
ขณะที่สถานการณ์การเมืองในประเทศ ปรับตัวดีขึ้นทำให้เกิดความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน ซึ่งเอื้อต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง, สภาพคล่องในระเบบที่อยู่ในเกณฑ์ดี, ดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ, ภาคท่องเที่ยวฟื้นตัวเร็ว , มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ ช่วงต้นปีงบ 54 รวมทั้งงบในโครงการไทยเข้มแข็ง ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากการลดลงของรายจ่ายภาครัฐได้, รายได้เกษตรกรยังมีแนวโน้มสูงกว่าปี 52
ด้านปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจในปีนี้คือ แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกช่วงครึ่งปีหลัง,ความผันผวนจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ, ความผันผวนเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน, ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศ, การผลิตภาคการเกษตรยังมีความเสี่ยงจากปัญหาภัยแล้ง และความผันผวนของราคาน้ำมัน
*แนะรัฐบาลบริหารเศรษฐกิจช่วงครึ่งหลังปี 53 เน้นความสำคัญ 5 ด้าน
นายอำพน กล่าวว่า แม้การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกและสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ ประกอบกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี จะทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 53 มีโอกาสที่จะขยายตัวในระดับสูงถึง 7-7.5% ได้นั้น แต่แรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ในตลาดโลกมีแนวโน้มจะลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศสำคัญ ซึ่งจะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังนี้มีแนวโน้มชะลอตัวลงและมีความเสี่ยงต่อการเป็นข้อจำกัดในการขยายตัวทางเศรษฐกิจช่วงต้นปี 54
ดังนั้น การบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้จึงควรให้ความสำคัญกับ 5 ด้านดังนี้ 1.การเร่งรัดฟื้นฟูภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตานักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติ รวมทั้งการเร่งรัดการดำเนินการตามแผนปรองดองอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ
2.การแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายสิ่งแวดล้อมในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 รวมถึงการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมสำคัญ
3.การดูแลและแก้ไขปัญหาการผลิตภาคการเกษตรรวมถึงการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรอย่างเหมาะสมภายใต้สถานการณ์ปริมาณน้ำในเขื่อนยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ รวมถึงการแข็งค่าของเงินบาทท่ามกลางแนวโน้มการอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องของเงินดอง
4.การเร่งรัดโครงการลงทุนสำคัญภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ให้มีความต่อเนื่อง รวมทั้งการเตรียมโครงการสำคัญภายใต้กรอบงบประมาณประจำปี 54 ให้มีความพร้อมต่อการดำเนินงานและการเบิกจ่าย โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 4/53 และไตรมาส 1/54 ซึ่งอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงตามแนวโน้มการลดลงของแรงขับเคลื่อนจากเศรษฐกิจโลก และข้อจำกัดการขยายตัวจากฐานที่สูงขึ้น
5.การดำเนินนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนอย่างสมดุล เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจภายใต้แนวโน้มแรงกดดันในการแข็งค่าของเงินบาท และความเสี่ยงด้านความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนและอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างค่าเงินสกุลหลัก