สภาพัฒน์แนะยึดหลักจุดสมดุลดูแลค่าเงินบาท เตือนอย่าฝืนกลไกตลาด

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 23, 2010 12:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์)กล่าวว่า การดูแลค่าเงินบาทควรจะหาจุดสมดุลที่เหมาะสม ภายใต้หลักการสำคัญในขณะนี้คือจะต้องไม่ฝืนกลไกตลาด โดยจะต้องไม่มองปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเฉพาะในจุดใดจุดหนึ่ง เช่นเดียวกันการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมก็ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสถานการณ์เงินทุนไหลเข้า-ออกในขณะนี้ด้วย

"ถ้าเรามองแล้วเราไปเล่นเฉพาะจุด เช่นผู้ส่งออกร้องว่าบาทแข็งขอให้ปรับค่าเงินบาทให้อ่อนตัวลง พวกเก็งกำไรก็รู้เลยทันทีว่าการปรับตัวของค่าเงินบาทจะไม่เป็นไปตามกลไกตลาด ตรงนั้นคืออันตราย เพราะฉะนั้น ธปท.ต้องดูอย่างรอบคอบ นักการเงินต้องวิเคราะห์อย่างรอบคอบว่าอะไรคือจุดที่สมดุล เพราะทุกครั้งที่เราที่ทำอะไรที่ฝืนกลไกตลาด ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าเงินไหลเข้ามาเท่านั้นเท่านี้ แล้วไปใช้มาตรการที่สวนทางกลไกตลาด นักเก็งกำไรจะออกมาทำกำไรระยะสั้นนั่นคือความเสียหายของเรา"นายอำพน กล่าว

การวิเคราะห์ถึงการแข็งค่าของเงินต้องมองให้รอบด้าน โดยสาเหตุหนึ่งคือ เงินต่างประเทศไหลเข้ามาในตลาดทุนต่าง ๆ โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยซึ่งทำให้ดัชนี SET ปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังจาก พ.ค.ที่เคยอยู่ในระดับ 700 จุด มาเป็น 800-900 จุดในขณะนี้ และยังมีผู้ที่พยากรณ์ว่าจะไปถึง 1,000 จุด

นายอำพน กล่าวว่า ต้องระมัดระวังว่าเงินที่เข้ามาลงทุนในขณะนี้เป็นเงินลงทุนระยะสั้นหรือระยะยาว เพราะหากเป็นเงินที่เข้ามาเก็งกำไรระยะสั้น แน่นอนก็มีความเสี่ยงว่าความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนจะเกิดขึ้นอย่างรุนแรง จึงต้องศึกษาและติดตามอย่างใกล้ชิด โดยจะต้องมีกลไกในการป้องกันอย่างชัดเจน

นอกจากนั้น จะต้องพิจารณาว่าการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในขณะนี้เป็นการเกิดขึ้นในช่วงสั้นหรือไม่ เพราะเดือนก่อนดุลบัญชีเดินสะพัดติดลบ เพราะราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นและมีการเร่งสั่งนำเข้าสินค้าทุน รวมทั้งมีการลงทุนเพิ่มขึ้น รวมทั้งต้องติดตามอัตราดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้ที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่มีการปรับดอกเบี้ยสูงขึ้น

นายอำพน กล่าวว่า แม้ว่าเงินบาทแข็งค่าจะทำให้ผู้ส่งออกได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME ที่ไม่สามารถเข้าสู่กลไกป้องกันความเสี่ยงได้มากเท่ารายใหญ่ แต่สิ่งที่ควรจะดำเนินการก็คือกระทรวงการคลังจะต้องร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ในการสร้างกลไกให้รายย่อยเข้าถึงการป้องกันความเสี่ยงค่าเงินได้มากขึ้น เพราะจะส่งผลดีในระยะยาว มากกว่าการสร้างแรงกดดันให้มีการแทรกแซงเงินบาทซึ่งเป็นสิ่งที่ฝืนกลไกตลาด

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้สภาพัฒน์ประเมินและติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทว่าจะมีผลกระทบเกิดขึ้นอย่างไรในทุกกลุ่ม เนื่องจากเมื่อค่าเงินบาทปรับขึ้นหรือลงจะเป็นเหมือนเหรียญ 2 ด้าน เพราะหากเงินบาทอ่อนค่าก็จะกระทบอย่างมากต่อราคาน้ำมัน และผู้ใช้พลังงาน รวมทั้งผู้นำเข้าวัตถุดิบ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ