นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติวันนี้เห็นชอบให้จัดทำประกาศ 11 ประเภทกิจการที่มีผลกระทบร้ายแรง จาก 18 ประเภทกิจการที่คณะกรรมการ 4 ฝ่ายเสนอมา โดยจากนี้จะส่งผลการพิจารณาให้คณะกรรมการแต่ละคนรับทราบและจะมีการยกร่างประกาศเพื่อนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป แต่อาจจะไม่ทันในสัปดาห์นี้ เพราะคงต้องใช้เวลา 1-2 วัน
ขณะที่ 7 โครงการที่จะไม่อยู่ในประกาศ ได้แก่ 1.โครงการหรือกิจการที่ต้องจัดทำรายงาน EIA และผู้ในพื้นที่หรืออาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ เช่น แหล่งมรดกโลกที่ขึ้นบัญชีตามอนุสัญญาระหว่างประเทศ อุทยานประวัติศาสตร์ แหล่งโบราณสถาน พื้นที่ป่าอนุรักษ์ เป็นต้น และ 2.การก่อสร้างหรือขยายสิ่งก่อสร้างถาวรนอกชายฝั่งทะเลเดิม
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทั้ง 2 ประเภทโครงการดังกล่าว คณะกรรมการ สวล.เห็นว่าการออกประกาศรวมอาจมีปัญหาในทางปฏิบัติ จึงกำหนดให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการ สวล.ที่จะสามารถประกาศเฉพาะพื้นที่
ส่วนโครงการ 3.เตาเผาขยะติดเชื้อ 4.โครงการผันน้ำลุ่มน้ำหลัก หรือการผันน้ำระหว่างประเทศ และ 5. โครงการประตูระบายน้ำ นั้น คณะกรรมการฯ เห็นว่าไม่อยู่ในข่ายที่มีผลกระทบร้ายแรง จึงให้เริ่มดำเนินการทำรายงาน EIA เท่านั้น
และ 6.โครงการสูบน้ำเกลือใต้ดิน 7.โครงการชลประทานที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 8 หมื่นไร่ขึ้นไปนั้น คณะกรรมการ สวล.เห็นว่าไม่ควรประกาศเป็นประเภทโครงการที่มีผลกระทบร้ายแรง เนื่องจากปัจจุบันไม่มีการอนุญาตให้ดำเนินโครงการสูบน้ำเกลือใต้ดินอยู่แล้ว ส่วนโครงการชลประทานมีความซ้ำซ้อนกับโครงการด้านน้ำที่มีข้อกำหนดต้องจัดทำแผน EIA อยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โครงการโรงแยกก๊าซ 6 ของบมจ.ปตท.(PTT)ไม่ได้อยู่ในข่ายโครงการที่มีผลกระทบร้ายแรงตามประกาศ
นพ.มารุต มัสยวาณิช รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภายในวันนี้จะให้กรรมการสิ่งแวดล้อมทุกคนเซ็นรับรองผลการประชุมเป็นรายบุคคล ก่อนจะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้รับทราบ จากนั้นจะเป็นขั้นตอนเพื่อให้ผู้ประกอบการที่ไม่เข้าข่ายใน 11 ประเภทกิจการได้นำไปใช้ยื่นต่อศาลปกครอง เพื่อให้สามารถเดินหน้าลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดต่อไป
"ผู้ประกอบการจะได้เอาผลตรงนี้ไปยื่นต่อศาลในวันที่ 26 ส.ค.ว่าโครงการไหนที่ไม่ได้อยู่ในประเภทกิจการร้ายแรง จะได้ไปยื่นศาลเพื่อขอปลดล็อคโครงการ" นพ.มารุต กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
ทั้งนี้ 11 ประเภทกิจการที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติให้เป็นประเภทกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างร้ายแรง ประกอบด้วย 1.การก่อสร้างหรือขยายสิ่งก่อสร้างถาวรนอกชายฝั่งทะเลเดิมเพื่อกันคลื่นหรือกระแสน้ำในทะเล 2.การทำเหมือง 3.นิคมอุตสาหกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรม หรือโครงการที่มีลักษณะเช่นเดียวกับการทำนิคมอุตสาหกรรม
4.โรงงานปิโตรเคมี 5.โรงงานถลุงแร่หรือหลอมโลหะ 6.การผลิตหรือกำจัด หรือปรับแต่งสารกัมมันตรังสี ยกเว้นในส่วนของโรงพยาบาล และการวิจัยพัฒนาในสถาบันการศึกษาและหน่วยงานวิจัย 7.โรงงานฝังกลบหรือเผาของเสียอันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน 8.สนามบิน และสนามบินที่มีการขยายทางวิ่ง 9.ท่าเทียบเรือ 10.เขื่อนเก็บกักน้ำหรืออ่างเก็บน้ำ และ 11.โรงไฟฟ้า