แบงก์-โบรกฯคาดกนง.ขึ้นดอกเบี้ยอาร์พีอีก 0.25% ด้าน ม.หอการค้ามองคงไว้

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 24, 2010 10:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แบงก์และโบรกเกอร์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในวันที่ 25 ส.ค.นี้จะตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย(อาร์พี)อีก 0.25% มาที่ 1.75% หลังจากภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจนขึ้นมาก และถึงแม้ว่าจะปรับดอกเบี้ยขึ้นมาอีกก็ยังต่ำกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

ขณะที่ ม.หอการค้าฯมีมุมมองที่แตกต่างออกไป โดยเชื่อว่า กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับปัจจุบันไว้ก่อน เนื่องจากเงินบาทแข็งค่าเร็วมาก หากปรับขึ้นดอกเบี้ยจะยิ่งเป็นการกดดันให้การแข็งค่าเร่งตัวขึ้นอีก และการคงอัตราดอกเบี้ยยังเป็นการรักษาส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยไทยและต่างประเทศ เพื่อไม่ให้เงินทุนไหลทะลักเข้ามาด้วย

          สถาบัน                              ประชุม กนง.25 ส.ค.    ณ สิ้นปี 53
          ศูนย์วิจัยกสิกรไทย                      1.75% (+0.25)           2%
          ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ม.หอการค้าไทย     1.50% (คงที่)           1.75-2%
          บล.กิมเอ็ง(ประเทศไทย)                1.75% (+0.25)           2%
          บล.ทรีนิตี้                            1.75% (+0.25)

น.ส.เกวลิน หวังพิชญสุข ผู้จัดการฝายวิจัยการเงิน การธนาคาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มีโอกาสที่ กนง.ในวันที่ 25 ส.ค.จะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% จากระดับปัจจุบันที่ 1.50% มาเป็น 1.75% เนื่องจากขณะนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่เริ่มจะดีขึ้นตามการคาดการณ์ของหลายสถาบันที่ประเมินว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ไทยปีนี้จะเติบโตในระดับ 6-7%

"ดอกเบี้ยตอนนี้ 1.50% ยังอยู่ในระดับที่ต่ำ แบงก์ชาติอาจมองว่ายังต่ำไปเมื่อเทียบกับพื้นฐาน overall ของเศรษฐกิจที่ดูโอเคและเริ่มฟื้นตัวแล้ว น่าจะเป็นการขยับให้รับกับพื้นฐานเศรษฐกิจที่ดูดี ก็น่าจะไม่กระทบให้ภาคธุรกิจสะดุด ซึ่งอาจจะมองว่าขึ้นดอกเบี้ยตอนนี้ ดีกว่าไปขึ้นตอนที่เศรษฐกิจไม่ดี timing ตอนนี้ยังเอื้อให้ทำได้" น.ส.เกวลิน กล่าวกับ "อินโฟเควสท์"

พร้อมกันนี้ มองว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.ในรอบนี้อาจเป็นเตรียมป้องกันหรือรองรับกับอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มว่าจะปรับสูงขึ้นในปีหน้า เพราะหากจะรอให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นไปก่อนแล้วค่อยมาปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามทีหลังนั้นอาจจะช้าไป

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากระดับที่ต่ำมากในปัจจุบันไม่น่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมขณะนี้ เพราะอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปัจจุบันถือว่ายังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค และแม้จะปรับขึ้นเป็น 1.75% ก็ยังต่ำกว่าระดับปกติเมื่อเทียบกับ GDP ของประเทศปีนี้ที่คาดว่าจะเติบโตได้ 6-7% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไป(CPI)คาดว่าจะอยู่ที่ 3.5%

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปี 53 จะอยู่ที่ระดับ 2%

ส่วนบทวิเคราะห์ บล.กิมเอ็ง(ประเทศไทย) คาดว่า กนง. จะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เป็น 1.75% ในการประชุมรอบนี้ เพื่อให้อัตราผลตอบแทนของอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest Rate) กลับขึ้นมาอยู่ในระดับปรกติ หลังจากติดลบติดต่อกันมาหลายปี และเพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับอัตราดอกเบี้ยในภูมิภาค รวมถึงเป็นการป้องกันปัญหาเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ หลังเศรษฐกิจไตรมาส 2/53 ยังขยายตัวในเกณฑ์ดี และเพื่อชะลอการเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์ด้วย

บล.กิมเอ็ง คาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายปลายปี 53 จะอยู่ที่ระดับ 2.00%

ขณะที่นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่า กนง.น่าจะยังไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยอาจจะคงไว้ที่ระดับ 1.50% เนื่องจากเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่า การคงอัตราดอกเบี้ยไว้ เพื่อต้องการรักษาส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยกับต่างประเทศ อันจะมีผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุน คาดว่า ณ สิ้นปีอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ในระดับ 1.75-2%

อย่างไรก็ดี มองว่าในปี 54 กนง.น่าจะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกราว 1-1.50% โดยขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 3% ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่เหมาะสมต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบกับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในปีหน้าจะเร่งตัวขึ้นเป็น 3.5-4.5%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ