นายกฯ กำหนดกรอบแก้ปัญหามาบตาพุดใน 2 เดือน รับทราบความกังวลนลท.ญี่ปุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 24, 2010 15:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในระหว่างการชี้แจงผลการประชุมหารือกับรัฐมนตรีเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น โดยมีมว.พาณิชย์เป็นหัวหน้าคณะ ระหว่าง 22-27 ก.ค.ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีระบุว่าได้กำหนดกรอบสำหรับการแก้ไขปัญหามาบตาพุดว่าน่าจะเสร็จสิ้นภายใน 2 เดือนนับจากนี้

ทั้งนี้ เนื่องจากฝ่ายญี่ปุ่นขอทราบความคืบหน้าปัญหามาบตาพุด ซึ่งไทยได้ชี้แจงว่าไทยเข้าใจว่าปัญหาดังกล่าวมีผลต่อการลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่น แต่ปัญหานี้เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยของประชาชนไทยด้วยเช่นกันดังนั้นจึงต้องมีการรับฟังความเห็นอย่างรอบด้านจากทุกภาคส่วน

นอกจากนี้ ฝ่ายญี่ปุ่นขอให้ไทยสนับสนุนข้อเสนอการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจแบบ ASEAN+6 หรือ CEPEA ซึ่งประกอบด้วยอาเซียน 10 ประเทศ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ในการประชุมเอเปคที่ญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพในเดือน พ.ย.53

ฝ่ายไทยได้ชี้แจงให้ทราบว่าไทยได้ให้ความสำคัญต่อการรวมกลุ่มเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และขอขอบคุณที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดทำข้อเสนอแผนการรวมกลุ่มเศรษฐกิจแบบ ASEAN+6 มาเป็นแนวทางการดำเนินการอย่างเป็นระบบ เนื่องจากไทยเห็นว่าแผนดังกล่าวมีจุดเด่นเรื่องกลไกการทำงานที่สอดคล้องกับโครงสร้างเดิมที่อาเซียนมีอยู่แล้ว ทำให้ไม่เกิดความซ้ำซ้อนในการทำงาน

ในส่วนความร่วมมือภายใต้ความร่วมมือ JTEPA ญี่ปุ่นแสดงความกังวลเกี่ยวกับการเจรจาลดภาษีรถยนต์เครื่องขนาดมากกว่า 3,000 ซีซี ภายใต้กรอบเขตการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่น หรือ JTEPA ที่ยังไม่มีความคืบหน้า ซึ่งฝ่ายไทยได้แจ้งว่าเรื่องนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงอุตสาหกรรม

พร้อมกันนี้ ฝ่ายไทยขอให้ญี่ปุ่นพิจารณาปรับปรุงกฎแหล่งกำเนิดสินค้าสับปะรด ที่กำหนดว่าต้องมีน้ำหนักไม่เกิน 900 กรัม ให้มีความยืดหยุ่นสามารถรองรับสับประรดส่วนใหญ่ของไทยที่มีขนาดประมาณ 1,000 กรัมขึ้นไปได้ และขอให้เพิ่มโควตาการนำเข้าเนื้อสุกรแปรรูป ซึ่งฝ่ายญี่ปุ่นรับที่จะนำเรื่องนี้แจ้งให้กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงพิจารณาต่อไป

นอกจากนี้ ฝ่ายไทยขอให้ญี่ปุ่นพิจารณาสนับสนุนโครงการความร่วมมือภายใต้ JTEPA 7 โครงการ โดยเฉพาะในสาขาอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งขณะนี้ญี่ปุ่นได้ชะลอความร่วมมือนี้ โดยขอให้ญี่ปุ่นส่งบุคลากรฝึกอบรมแก่ผู้ประกอบการไทยอย่างเพียงพอ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ