ก.ไอซีที ร่วมผลักดันการขยายตลาดสินค้า OTOP ผ่านระบบ e-Commerce

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 25, 2010 11:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการ e-Commerce เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์(OTOP)ว่า โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์(OTOP)เป็นโครงการที่รัฐบาลให้การสนับสนุนเพื่อให้แต่ละชุมชนได้นำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการพัฒนาสินค้า โดยรัฐบาลพร้อมที่จะช่วยเหลือทั้งในด้านความรู้สมัยใหม่และการบริหารจัดการ เพื่อเชื่อมโยงสินค้าจากชุมชนสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

การเลือกซื้อสินค้า OTOP ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการค้นหาสินค้าได้อย่างหลากหลาย ประหยัดเวลา รวมทั้งสะดวกรวดเร็ว ซึ่งหากมีการวางระบบการชำระเงินและระบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพแล้ว ก็จะสามารถส่งเสริมการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในสินค้า OTOP รวมถึงภาคธุรกิจให้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นได้

ปัจจุบัน มีสินค้า OTOP ที่ได้มาตรฐานผลิตออกมาให้ประชาชนเลือกซื้อมากมาย ผ่านทางห้างสรรพสินค้า ร้านจำหน่ายสินค้า OTOP หรืองานจัดแสดงสินค้าต่างๆ ซึ่งข้อดี คือ สามารถจับต้องทดลองสินค้าได้ แต่ข้อเสีย คือ ราคาสูงกว่าที่ซื้อจากกลุ่มผู้ผลิตโดยตรง 2 ถึง 3 เท่าขึ้นอยู่กับสถานที่และค่าใช้จ่าย บริหารจัดการ ค่าการตลาดของห้างสรรพสินค้า และยังมีสินค้าให้เลือกไม่มากนัก

ด้านนายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า กระทรวงร่วมกับ 6 หน่วยงานที่ให้ความร่วมมือในโครงการฯ นี้ ได้แก่ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ บริษัท ธนาคารกรุงไทย (KTB) บมจ. ทีโอที บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และบมจ. อสมท (MCOT) จัดทำโครงการ e-Commerce

ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ขึ้นเป็นโครงการนำร่อง เพื่อให้ผู้ประกอบการ OTOP สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การผลิต การขนส่งสินค้า การประชาสัมพันธ์ การจำหน่าย และการรับชำระเงิน ซึ่งจะเอื้อต่อการจำหน่ายสินค้าของผู้ประกอบการ OTOP โดยใช้ศักยภาพของหน่วยงานทั้ง 6 ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

“โครงการฯนี้จะช่วยลดช่องว่างทางเศรษฐกิจ สังคม และเปิดโอกาสในการนำสินค้าสู่ตลาดในช่องทางออนไลน์ โดยใช้ระบบ ไอทีเข้ามาช่วย อันเป็นการขยายช่องทางการตลาดในการจำหน่ายสินค้า OTOP ให้แก่ผู้ซื้อทั้งในประเทศและต่างประเทศได้มากยิ่งขึ้น จึงช่วยสร้างรายได้และมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมให้กับประเทศ"นายจุติ กล่าว

กล่าวคือ ทางตรงถือเป็นโครงการที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้เป็นอย่างมาก ส่วนทางอ้อมนั้นสามารถประชาสัมพันธ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่สากล ดึงดูดให้มีลูกค้าเพิ่มขึ้นในต่างประเทศ อันเป็นการสร้างตลาดใหม่ ซึ่งเป็นตลาดที่พร้อมจะใช้บริการ เนื่องจากมีความสะดวก และยังไม่มีบริการใดที่ตอบสนองความต้องการลักษณะนี้ จึงทำให้สามารถสร้างตลาดในส่วนนี้ให้เติบโตได้อย่างมาก อีกทั้งยังสามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ทันสมัยได้อีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ