TMB มองแนวโน้มศก. H2/53 แตกต่าง H1 แต่ AFTA ยังดันยอดส่งออกไทยโต

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 25, 2010 12:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB มองว่าเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังจะแตกต่างจากในครึ่งแรก ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในครึ่งปีหลังอาจไม่เติบโตอย่างร้อนแรงเช่นในครึ่งปีแรกโดยน่าจะเติบโตได้ในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ถึงแม้ว่าประเทศในกลุ่ม G3 ที่มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันมากกว่าร้อยละ 60 ของเศรษฐกิจโลก จะยังคงประสบปัญหาเศรษฐกิจภายใน อย่างปัญหาการว่างงานในระดับสูงของสหรัฐ และปัญหาหนี้ภาครัฐในกลุ่มประเทศ EU แต่ด้วยศักยภาพทางเศรษฐกิจนำโดยเศรษฐกิจพี่ใหญ่อย่าง เยอรมัน และฝรั่งเศส ผนวกกับการร่วมมือในการแก้ปัญหาภายในของกลุ่ม EU ทำให้ปัญหาดังกล่าวไม่เป็นที่น่ากังวลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกมากนัก ในขณะที่เศรษฐกิจจีนเองก็น่าที่จะเริ่มบรรเทาความร้อนแรงลงบ้าง จากที่ทางการจีนพยายามควบคุมการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์และการแข็งขึ้นของค่าเงินหยวนที่จะกระทบการส่งออกของจีน

อย่างไรก็ดี ปัจจัยของฐานต่ำจะหมดลงในช่วงปลายปีประกอบกับเศรษฐกิจโลกเริ่มกลับเข้าสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤต ทำให้ในช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไม่น่าจะขยายตัวในอัตราที่สูงอย่างในช่วงแรก

หัวจักรสำคัญของเศรษฐกิจโลกในครึ่งปีหลังมาจากการขยายตัวของกลุ่มประเทศในเอเชีย โดย IMF คาดการณ์ว่าในปี 2553 เศรษฐกิจสหรัฐ EU และญี่ปุ่น จะเติบโตได้เพียงร้อยละ 3.3, ร้อยละ 1.0 และ ร้อยละ 2.4 ตามลำดับ ขณะที่ล่าสุด IMF ปรับคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจจีน อินเดีย ในปี 2553 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 10.5 และ 9.4 ตามลำดับ ส่วนเศรษฐกิจกลุ่ม ASEAN—5 จะขยายตัวที่ร้อยละ 6.4 โดยการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีน และอินเดีย ซึ่งเป็นฐานการบริโภคใหม่ที่สำคัญของโลก จะมีอิทธิพลมากขึ้นทางด้านเศรษฐกิจ

ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากขนาดเศรษฐกิจของเอเชียที่มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 30 ของเศรษฐกิจโลกและการขยายตัวที่อยู่ในระดับสูง จะพบว่าเศรษฐกิจโลกที่ IMFคาดการณ์ไว้ว่าจะโตได้ในระดับร้อยละ 4.6 นั้น จะเป็นผลมาจากการเติบโตของกลุ่มประเทศในเอเชียถึงร้อยละ 1.67 โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประเทศ ASEAN ที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงโดยมีการส่งออกที่แข็งแกร่งเป็นตัวนำสิทธิประโยชน์จาก AFTA หนุนการเติบโตภาคการส่งออกของไทย

ปัจจุบันไทยได้ทำความตกลง เขตการค้าเสรี (FTA) แล้วทั้งสิ้น 10 ฉบับ กับ 7 ประเทศคู่ค้า ได้แก่ อาเซียน จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ทั้งนี้ เฉพาะภายใต้กรอบ AFTA ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2536 กำหนดให้ประเทศสมาชิกอาเซียนเดิม 6 ประเทศ (ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย บรูไน และสิงคโปร์) ต้องลดภาษีสินค้าปกติทุกรายการให้เหลือร้อยละ 0 นับตั้งวันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นไป ขณะที่สมาชิกอาเซียนใหม่ 4 ประเทศ (เวียดนาม ลาว พม่าและกัมพูชา) หรือกลุ่ม CLMV ยังคงมีภาษีที่ร้อยละ 0-5 ในปี 2553 แต่จะทยอยยกเลิกภาษีลงเหลือร้อยละ 0 ภายในปี 2558

โดยภาพรวมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่มีศักยภาพสูงมากของไทย มีอัตราการเติบโตสูงกว่าอัตราการเติบของเศรษฐกิจโลกมาโดยตลอด ทำให้มูลค่าการค้ากับตลาดอาเซียนขยายตัวได้สูงมาก ทำให้ปัจจุบันตลาดอาเซียนเป็นตลาดสำคัญต่อการส่งออกของไทย โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 23 เทียบกับร้อยละ 12 ในช่วงก่อนก่อตั้ง AFTA แต่ถ้าพิจารณาเฉพาะสมาชิกอาเซียนเดิม สัดส่วนการส่งออกจะอยู่ที่ร้อยละ 17

ทั้งนี้ มีประเด็นสำคัญคือ ผู้ส่งออกไทยยังมีโอกาสขยายตลาดได้เพิ่มขึ้นอีกมาก สะท้อนจากการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ AFTA ยังอยู่ในระดับเพียงร้อยละ 53 แม้ว่าอัตราการใช้สิทธิประโยชน์จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 2550 ก็ตาม

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB คาดการณ์ว่ากลุ่ม CLMV จะเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพสูงสำหรับผู้ส่งออกรายย่อยไทยในอนาคต เศรษฐกิจของเวียดนามครองสัดส่วนถึงร้อยละ 66 ของกลุ่ม CLMV และเป็นประเทศที่สามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้สูงสุด ขณะที่อีก 3 ประเทศเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดเล็ก โดยเฉพาะเศรษฐกิจลาวมีขนาดเล็กที่สุดเพียง 6 พันล้านเหรียญสรอ. แม้ว่าขนาดเศรษฐกิจของกลุ่ม CLMV จะมีขนาดรวมเพียงประมาณ 1.4 แสนล้านเหรียญสรอ. หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของเศรษฐกิจอาเซียน แต่ก็กำลังอยู่ในช่วงพัฒนาขีดความสามารถทั้งด้านการผลิต และการส่งออก รวมทั้งโคงสร้างพื้นฐานต่างๆ โดยในช่วงระยะ 5—10 ปีข้างหน้า เชื่อว่าเศรษฐกิจของประเทศกลุ่มนี้จะเข้มแข็งขึ้นมาก โดย IMF ประเมินการเติบโตของเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศนี้อยู่ในช่วงประมาณร้อยละ 5-7 ซึ่งเป็นโอกาสดีของไทย เนื่องจากสัดส่วนการนำเข้าสินค้าจากไทยโดยกลุ่มประเทศเหล่านี้ จัดได้ว่าอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งลาวที่นำเข้าสินค้าจากไทยสูงถึงราวร้อยละ 60-70 อย่างต่อเนื่อง ขณะที่กัมพูชาเริ่ม นำเข้าจากไทยในสัดส่วนที่สูงขึ้นในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา

ในแง่ของการเข้าถึงตลาด CLMV เชื่อว่าผู้ส่งออกไทยจะมีศักยภาพในการเจาะตลาดสูง ด้วยปัจจัย สนับสนุนที่สำคัญ ได้แก่ โครงสร้างตลาดที่ไม่ซับซ้อนนำไปสู่ความต้องการสินค้าในลักษณะอุปโภคบริโภคเป็นหลัก จากโครงสร้างการนำเข้าสินค้าของประเทศเพื่อนบ้าน พบว่าสินค้าอุตสาหกรรมพื้นฐาน ได้แก่ ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เหล็ก วัสดุก่อสร้าง ยานยนต์ ยังมีความต้องการใช้ในอัตราที่สูงตามเศรษฐกิจที่ขยายตัว เช่นเดียวกับสินค้าบริโภค ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยา จากสภาพสังคมและพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่แตกต่างกับไทยและสภาพพื้นที่ติดต่อกัน ทำให้ส่วนแบ่งตลาดของสินค้าส่งออกไทยอยู่ในระดับที่สูง

การแข่งขันในตลาดยังไม่สูงมาก ทำให้เป็นจุดที่น่าสนใจสำหรับผู้ส่งออกรายย่อยของไทย โดยผู้บริโภคจะพิจารณาสินค้าที่ราคาและความคุ้นเคยเป็นหลักเมื่อเทียบกับตลาดอื่น สินค้าไทยยังมีความได้เปรียบจากการเป็นประเทศเพื่อนบ้าน เพราะขนส่งสินค้าได้สะดวกรวดเร็วและปลอดภัยขึ้น ประกอบกับผู้บริโภคยังมีความคุ้นเคยกับสินค้าผ่านสื่อไทยอยู่แล้ว นอกจากนี้ ในมุมมองของผู้ประกอบการ การที่ตลาดเป็นกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน น่าจะเป็นผลดีต่อการติดตามกิจกรรมทางการค้าได้สะดวกกว่าประเทศคู่ค้าอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ตลาดที่กำลังเติบโตย่อมจะมีการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากความสามารถในการผลิตในประเทศที่เพิ่มขึ้นและคู่แข่งที่จะเริ่มเข้ามาในตลาด เพราะฉะนั้น ผู้ประกอบการที่ส่งออกจำเป็นต้องศึกษาตลาดและพยายามชิงความได้เปรียบในฐานะของผู้บุกเบิกตลาด เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันทั้งในรูปของสินค้ารวมถึงต่อยอดการบริการต่อเนื่องจากการขายสินค้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ