ธนาคารกลางอินเดียเผยการควบคุมเงินเฟ้อถือเป็นภารกิจสำคัญอันดับแรก ซึ่งท่าทีดังกล่าวอาจจุดกระแสคาดการณ์ว่า ธนาคารจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 5 นับเป็นตั้งแต่เดือนมี.ค.ที่ผ่านมา
ธนาคารกลางอินเดียกล่าวในรายงานประจำปีที่สิ้นสุด ณ วันที่ 30 มิ.ย.ว่า "ธนาคารอาจให้ความสำคัญกับการควบคุมภาวะเงินเฟ้อก่อนที่จะดำเนินมาตรการด้านเศรษฐกิจอื่นๆ เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นถือเป็นเรื่องสำคัญที่ธนาคารกลางกังวลมาก"
โดยอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้อายุ 10 ปีของอินเดียเคลื่อนไหวที่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 3 ปี ท่ามกลางความวิตกกังวลต่อภาวะเงินเฟ้อ นอกจากนี้ ในขณะที่อินเดียกำลังเดินหน้าควบคุมราคาสินค้าที่แพงขึ้นนั้น ธนาคารยังต้องจับตาดูความเสี่ยงที่เกิดจากปัญหาการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลกควบคู่ไปด้วย
ทั้งนี้ ธนาคารกลางอินเดียได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยมากที่สุดในปีนี้เมื่อกับประเทศอื่นๆในเอเชีย หลังดัชนีราคาผู้ผลิตซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อแกว่งตัวขึ้นราว 10%
นายดุฟวูรี ซับบาราว ผู้ว่าการธนาคารกลางอินเดีย ได้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (reverse repurchase rate) จาก 4% เป็น 4.5% เมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา และขึ้นอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร (repurchase rate) จาก 5.5% เป็น 5.75%
ด้านรองผู้ว่าการธนาคารกลางอินเดียแสดงความเห็นว่า แรงกดดันด้านเงินเฟ้อกำลังทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในยามที่เศรษฐกิจโลกเริ่มเปลี่ยนทิศทาง จากที่เคยฟื้นตัวได้ดีมาอยู่ในระดับที่ไม่น่าไว้วางใจ ขณะที่ความสมดุลของภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลกมีบทบาทสำคัญต่อการกำหนดนโยบายและการใช้บังคับใช้มาตรการต่างๆ
ทั้งนี้ เศรษฐกิจอินเดียเมื่อช่วงไตรมาสที่ผ่านมาขยายตัวน้อยเกินคาดที่ 2.4% ต่อปี ขณะที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวมาอยู่ที่ระดับ 10.3% และเศรษฐกิจญี่ปุ่นโตน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ซึ่งข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าวล้วนตอกย้ำให้เห็นว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจขาดปัจจัยหนุนในระยะนี้