ภาพรวมอุตฯอาหารปีนี้ยังขยายตัวต่อเนื่อง แต่ห่วงบาทแข็งกระทบมูลค่าหด

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 26, 2010 14:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

3 องค์กรเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเกษตรและอาหาร ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสถาบันอาหาร คาดภาวะอุตสาหกรรมอาหารของไทยในปีนี้จะยังขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยภาคการผลิตจะขยายตัวเพิ่มขึ้นราว 4-5% ขณะที่การส่งออกคาดว่าจะมีมูลค่า 830,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% คิดเป็นมูลค่าส่งออกในรูปดอลลาร์ 25,943 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นแทบทุกกลุ่มสินค้า ได้แก่ น้ำมันปาล์ม ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย อาหารสัตว์ เครื่องปรุงรส กุ้งแช่แข็งและแปรรูป ไก่และสัตว์ปีก ทูน่ากระป๋อง แต่มีสินค้าที่คาดว่าจะมีมูลค่าส่งออกลดลง ได้แก่ ผลไม้สดที่ประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ และข้าวที่ประสบปัญหาไม่สามารถแข่งขันกับข้าวต่างประเทศได้

โดยในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าภาวะการส่งออกอุตสาหกรรมอาหารไทยจะชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรก โดยไตรมาส 3 การส่งออกจะมีมูลค่าส่งออก 212,200 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 8.0% และไตรมาสที่ 4 มีมูลค่าส่งออก 206,337 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียง 1.8%

สินค้าที่มีแนวโน้มส่งออกชะลอลงในครึ่งปีหลัง ได้แก่ แป้งมันสำปะหลัง น้ำตาลทราย และผักผลไม้สด เนื่องจากมีปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ ส่วนการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ประมงอื่นๆ คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหากไม่ประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ ขณะที่การส่งออกทูน่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่อัตราขยายตัวจะต่ำกว่าครึ่งปีแรกเนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนทำให้จับปลาได้น้อยส่งผลให้ราคาวัตถุดิบทูน่าปรับตัวสูงขึ้นมากในช่วงครึ่งปีหลัง การส่งออกไก่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นตามความต้องการในตลาดโลก ส่วนสินค้าอื่นๆ ที่คาดว่าจะขยายตัวดี เช่น น้ำมันปาล์ม อาหารสัตว์และวัตถุดิบ เครื่องปรุงรส เป็นต้น

ทั้งนี้ มองว่ามีปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง ได้แก่ 1.ภาวะเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าหลักยังไม่ฟื้นตัว เช่น สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น โดยสหรัฐฯ ยังมีความเสี่ยงในการฟื้นตัวเพราะอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับสูงถึง 9.7% ทำให้การนำเข้าเริ่มชะลอตัว รวมทั้งดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ในเดือน ก.ค.53 ปรับตัวลดลง ยุโรปมีปัญหาการบริโภคลดลงจากมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาลหลายๆ ประเทศ ส่วนการแข็งค่าของเงินเยนญี่ปุ่นส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันทำให้สินค้าญี่ปุ่นมีราคาแพงขึ้นในมุมมองของประเทศคู่ค้า

2.ต้นทุนการผลิตมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามราคาปัจจัยการผลิต เป็นปัญหาที่เกี่ยวเนื่องมาจากสภาวะอากาศที่แปรปรวนทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรทั้งในประเทศและในตลาดโลกมีปริมาณลดลง และปัจจัยดังกล่าวเริ่มส่งผลกระทบทำให้ราคาสินค้าเกษตรและอาหารในตลาดโลกเริ่มปรับตัวสูงขึ้น

3.ค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะค่าระวางเรือในระยะทางไกล เช่น ยุโรป ตะวันออกกลาง ซึ่งค่าระวางเรือสำหรับตู้ขนาด 20 ฟุต เพิ่มสูงขึ้นกว่า 2-3 เท่าตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

และ 4.อัตราแลกเปลี่ยน (บาท/USD) แข็งค่า ในช่วงกลางเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา เงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าต่ำกว่าระดับ 32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นมากที่สุดในรอบ 30 เดือน นับตั้งแต่เดือน มี.ค.51 ที่แข็งค่าอยู่ที่ 31.24 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยอุตสาหกรรมอาหารได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทมากกว่ากลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ เพราะมีการใช้ปัจจัยการผลิตภายในประเทศคิดเป็นสัดส่วนสูงประมาณ 80% ของต้นทุนการผลิตรวม ขณะที่อุตสาหกรรมจะได้รับประโยชน์จากวัตถุดิบนำเข้าที่มีราคาถูกลงคิดเป็นสัดส่วน 20% ของปริมาณวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมเท่านั้น

"เรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ที่เราคาดว่ามูลค่าส่งออกปีนี้น่าจะได้ 830,000 ล้านบาท เราประเมินตอนเงินบาทอยู่ที่ระดับ 32 บาท/ดอลลาร์ แต่ตอนนี้บาทแข็งลงมาเรื่อยๆ มาอยู่ที่ระดับ 31 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งเรามองว่าแนวโน้มเงินบาทน่าจะยังแข็งค่าต่อไปจนถึงสิ้นปี คาดว่ามีโอกาสจะลงไปทดสอบระดับ 30 บาท/ดอลลาร์ ถ้าเป็นเช่นนั้นมูลค่าการส่งออกอาจจะพลาดเป้า 830,000 ล้านบาท โดยอุตสาหกรรมที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ การส่งออกข้าว ส่งออกกุ้ง เพราะมีต้นทุนเป็นเงินบาทแต่รับเข้าเป็นเงินดอลลาร์ ก็จะกระทบเต็มๆ"นายนพดล ศิละบุตร รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าว

อย่างไรก็ตาม การส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2553 ยังมีความหวังจากปัจจัยสนับสนุน คือ อุตสาหกรรมอาหารของไทยมีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน สินค้าอาหารจึงมีคุณภาพ ความปลอดภัย และได้รับความเชื่อมั่นจากลูกค้า, เศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะประเทศเอเซีย ขยายตัวเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ผลจาการเปิดเสรีการค้าโดยเฉพาะเขตการค้าเสรีอาเซียนที่สินค้าส่วนใหญ่ปรับลดภาษีเป็น 0% ส่งผลทำให้มูลค่าการขอใช้สิทธิขยายตัวสูง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ