NGO มั่นใจข้อมูลคดีมาบตาพุดแน่นปึ๊ก พร้อมค้าน 11 ประเภทกิจการรุนแรง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 26, 2010 15:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวว่า มั่นใจว่ามีข้อมูลเพียงพอสำหรับการพิจารณาคดีมาบตาพุดของศาลปกครองกลาง เนื่องจากช่วง 10 ปีที่ผ่านมาชาวบ้านในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม และยังมีข้อมูลใหม่เพิ่มเติม คือ กรณีการเกิดอุบัติเหตุแก๊สรั่วของโรงงานต่างๆ ในพื้นที่มาบตาพุด

อีกทั้งไม่เป็นไปตามข้อกล่าวอ้างของผู้ถูกฟ้องที่ระบุว่า การชะลอโครงการลงทุนในมาบตาพุดทั้ง 64 โครงการมีผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศนั้น เพราะในความเป็นจริงแล้ว นายกรัฐมนตรี ระบุชัดว่า จีดีพีของไทยในครึ่งแรกของปี 53 ขยายตัวถึงกว่า 10% สอดคล้องกับตัวเลขของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) และมีแนวโน้มว่า เศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง จะขยายตัวร้อยละ 7-8

นอกจากนี้ สมาคมฯ จะยื่นคัดค้านมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่เห็นชอบให้ออกประกาศโครงการหรือกิจการที่ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชุมชน ทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ 11 ประเภท ซึ่งบิดเบือนเสียงส่วนใหญ่ของภาคประชาชนที่ยอมรับประกาศกิจการรุนแรง 18 ประเภท ของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ซึ่งไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 3 ที่ไม่รับฟังความเห็นจากภาคประชาชน โดยจะรวบรวมหนังสือมอบอำนาจจากประชาชนทั่วประเทศมาประกอบการคัดค้านภายใน 2 สัปดาห์

สำหรับการพิจารณาคดีมาบตาพุดของศาลปกครองกลางวันนี้จะเป็นการรับฟังข้อมูลครั้งสุดท้ายของทั้งผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้อง โดยเป็นการแถลงปิดคดีของตุลาการเจ้าของสำนวน คาดว่าไม่เกิน 1 เดือน ศาลปกครองกลางจะมีคำพิพากษาออกมาชัดเจน

ด้านนายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กล่าวว่า การออกประกาศประเภทกิจการรุนแรงของหน่วยงานรัฐไม่มีความสอดคล้องกับที่มาและหลักเกณฑ์ เพราะที่ผ่านมามีการกำหนดประเภทกิจการรุนแรงถึง 4 ฉบับ นับตั้งแต่สมัยที่นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน เป็น รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดกิจการรุนแรง 19 ประเภท ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนด 8 ประเภท, คณะกรรมการ 4 ฝ่ายกำหนด 18 ประเภท และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กำหนด 11 ประเภท

พร้อมกันนี้ ยังเรียกร้องให้มีการจัดทำหลักเกณฑ์การออกประกาศกิจการรุนแรงใหม่ โดยให้ 3 องค์กรหลักเป็นผู้ดำเนินการ ประกอบด้วย คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพแห่งชาติ รวมทั้งกำหนดชัดเจนว่าจะต้องประกาศภายใต้กฎกระทรวงใด ซึ่งในวันที่ 29 ส.ค.นี้ จะประชุมสมาชิกเครือข่ายฯ เพื่อตรวจสอบการตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงว่าเป็นไปตาม พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติหรือไม่ และหากพบว่า คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีผลประโยชน์ทับซ้อนในการพิจารณาออกประกาศกิจการรุนแรงที่เอื้อต่อภาคเอกชน ทางเครือข่ายฯ ก็จะยื่นเรื่องต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ให้ตรวจสอบต่อไป

นายสุทธิ กล่าวว่า ต้องการให้มีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนใหม่อีกครั้ง เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่า ภาคอุตสาหกรรมมีการจัดตั้งกลุ่มชาวบ้านเข้าไปร่วมเวทีแสดงความคิดเห็น ซึ่งถือว่าไม่มีความโปร่งใส


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ