นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า สถานการณ์การส่งออกข้าวไทยในช่วง 4 เดือนที่เหลือของปีนี้ ไทยยังมีโอกาสที่จะทำได้ตามเป้าที่ 8.5 ล้านตัน จากก่อนหน้านี้ที่คาดว่าจะพลาดเป้า เนื่องจากเวียดนามมีข้าวเหลือส่งออกไม่มากนัก อีกทั้งส่วนต่างราคาข้าวไทยกับเวียดนามก็ไม่มากเหมือนช่วงก่อนหน้า แม้ว่าเวียดนามลดค่าเงินดองลง
ในช่วง 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.) ปีนี้ ไทยส่งออกข้าวไปแล้ว คิดเป็น 5 ล้านตัน
"เรายังมีหวังที่การส่งออกข้าวน่าจะทำได้ตามเป้า เนื่องจากศักยภาพการส่งออกข้าวของเวียดนามลดลง โดยช่วงที่ผ่านมาหลังเกิดน้ำท่วม จีนโหมซื้อข้าวจากเวียดนามไปเยอะจนข้าวเวียดนามหมด" นายกสมาคมฯ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
นอกจากนี้ ไทยยังมีโอกาสในการส่งออกข้าวนึ่งอีกด้วย เนื่องจากรับอานิสงค์จากการที่อินเดียมีนโยบายไม่ส่งออก หลังเกิดปัญหาสภาพอากาศ ทำให้ลูกค้าจากอินเดียหันมาสั่งซื้อจากไทยกันหมด
"ก่อนหน้านี้ ลูกค้าที่เคยตั้งความหวังว่าจะซื้อข้าวนึ่งจากอินเดียเพราะราคาถูกกว่าไทย ตอนนี้เลยต้องหันมาซื้อจากไทยหมดเลย และไม่มีคู่แข่ง เพราะเราผลิตได้คนเดียว แต่อนาคตไม่แน่นอน"นายชูเกียรติ กล่าว
ขณะนี้ส่วนต่างระหว่างราคาข้าวไทยในตลาดโลกแคบลงมา โดย 2-3 สัปดาห์ก่อนราคาข้าวขาวของเวียดนามอยู่ที่ 350 ดอลลาร์/ตัน ข้าวขาวไทยอยู่ที่ 450 ดอลลาร์/ตัน, สัปดาห์ที่แล้วราคาข้าวขาวเวียดนามอยู่ที่ 400 ดอลลาร์/ตัน ไทย 460 ดอลลาร์/ตัน พอมาสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเวียดนามอยู่ที่ 450 ดอลลาร์/ตัน ขณะที่ราคาข้าวของไทยอยู่ที่ 470 ดอลลาร์/ตัน
นายชูเกียรติ กล่าวต่อว่า โชคดีที่ตอนนี้ส่วนต่างระหว่างราคาข้าวไทยกับเวียดนามเริ่มแคบลงแล้ว ทำให้มีความหวังว่าไทยน่าจะมีโอกาสแย่งส่วนแบ่งตลาดข้าวในภูมิภาคเอเซียกลับมาจากเวียดนามได้ หลังจากถูกเวียดนามเบียดจนเสียแชมป์ไป จากที่ไทยเคยส่งออกได้ปีละ 4-5 ล้านตัน ตอนนี้ส่งออกไปได้เพียง 3 ล้านตัน เพราะเอเซียส่วนใหญ่ซื้อข้าวขาว เช่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ราคาเราสู้เวียดนามไม่ได้ ทำให้ปริมาณส่งออกข้าวขาวเราไปเอเซียลดลงทุกปี น่าเป็นห่วง แล้วเราจะทำยังไง เพราะยังไงๆราคาข้าวเวียดนามก็ถูกกว่าไทย แต่ก็ต้องหวังว่าลูกค้ายังมีความต้องการและอาจจะกลับมาซื้อจากไทย
"หวังว่าเหตุการณ์ราคาข้าวไทยกับเวียดนามยังเป็นแบบนี้ต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง ให้ลูกค้ามีความต้องการซื้อทำให้ไทยสามารถ Pick up กลับขึ้นมาได้"นายชูเกียรติ กล่าว
ส่วนค่าเงินบาทที่แข็งค่านั้น นายชูเกียรติ กล่าวว่า ในแง่ของปริมาณการส่งออกน่าจะทำได้ 8.5 ล้านตันตามเป้าหมายเดิม ขณะที่มูลค่าส่งออกข้าวคาดว่าจะอยู่ที่ราว 1.7 แสนล้านบาท ประเมินค่าเงินบาทอยู่ที่ 31 บาท/ดอลลาร์ แต่จากการที่แนวโน้มเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องและมีโอกาสทดสอบระดับ 30 บาท/ดอลลาร์ อาจจะทำให้มูลค่าส่งออกข้าวไทยลดลงจากเหลือราวๆ 1.5-1.6 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การที่ข้าวไทยยังมีราคาแพงมากเกินไป ทำให้บางประเทศ เช่น จีนที่เคยซื้อข้าวหอมจากไทยเปลี่ยนไปซื้อข้าวจากที่อื่น หรือบางประเทศก็เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคไปบริโภคอย่างอื่นแทน หรือไม่ก็จะไม่ซื้อแบบซื้อสต็อกเอาไว้จำนวนมากๆ ส่วนปีหน้าจะเป็นอย่างไรก็ต้องดูสถานการณ์ไปเรื่อยๆ ก่อนเพราะพืชไร่มีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา