นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า การแข็งค่าของเงินบาทในขณะนี้ยังอยู่ในภาวะที่ภาคธุรกิจและภาคเอกชนสามารถปรับตัวได้
ทั้งนี้ การแข็งค่าของเงินบาทสะท้อนหลายปัจจัยคือ เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้น การส่งออกขยายตัวได้ดี ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก การลงทุนจากต่างประเทศเข้ามามากขึน ทั้งตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร ซึ่งสะท้อนความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของไทย ประกอบกับ ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงจากความกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัว ซึ่งเป็นปัจจัยที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กันทำให้สนับสนุนเงินบาทให้เปลี่ยนทิศทางมาแข็งค่าขึ้น
นายบัณฑิต กล่าวว่า สิ่งที่ธปท.ให้ความสำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนเป็นไปตามภาวะตลาดหรือไม่ และความผันผวนต้องไม่เกินไปกว่าที่ภาคธุรกิจจะปรับตัว แม้จะแข็งค่าขึ้น แต่ยังไม่เป็นประเด็นมากมาย
ขณะเดียวกัน เงินบาทแข็งค่าขึ้นก็สะท้อนมาที่ตลาดหุ้นให้ปรับตัวขึ้น และอีกแง่หนึ่งคือ ทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าก็ลดลง ซึ่งขณะนี้วัฎจักรการลงทุนของภาคเอกชนปรับตัวรับสถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาทได้
ส่วนภาวะเงินทุนไหลเข้านั้น นายบัณฑิต มองว่า เงินทุนจากต่างประเทศยังไหลเข้ามาในเอเชียในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากตลาดมีความเป็นห่วงภาวะการชะลอตัวของประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยเฉพาะสหรัฐ ก็จะทำให้เงินไหลเข้ามาในเอเชียซึ่งมีอัตราผลตอบแทนการลงทุนที่สูงกว่าประเทศที่มีปัญหา
"ที่ผ่านมาก็มีกระแสเงินทุนไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร และเป็นส่วนที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นด้วย และมองว่าแนวโน้มก็ยังจะไหลเข้าอยู่ต่อไป จากกความเชื่อมั่นเศรษฐกิจที่มีมากขึ้น เป็นปัจจัยบวกที่ทำให้ fund flow ไหลเข้า"นายบัณฑิต กล่าว
สำหรับภาวะเศรษฐกิจครึ่งปีหลังจะฟื้นตัวต่อเนื่องจากครึ่งปีแรกซึ่งยังมีแรงส่งค่อนข้างมาก ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวในครึ่งปีหลัง แต่ภาพรวมยังเติบโตต่อไปได้ ปัจจัยหลักที่ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยคือ การส่งออก การท่องเที่ยว การปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ และการลงทุนภาคเอกชน
นายบัณฑิต กล่าวว่า ภาคการส่งออกของไทยยังมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่องในระดับที่น่าพอใจ แม้อาจจะไม่เติบโตได้เท่ากับครึ่งปีแรก ขณะที่การท่องเที่ยววจากที่เป็นห่วงในช่วงไตรมาส 2/53 แต่ขณะนี้ฟื้นตัวได้อย่างชัดเจนแล้ว เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีว่าท่องเที่ยวครึ่งปีหลังเติบโตได้ดี และงบประมาณปี 54 ยังเป็นงบขาดดุล ซึ่งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ การใช้จ่ายภาคเอกชนดี สินเชื่อแบงก์ขยายตัว สะท้อนเศรษฐกิจครึ่งปีหลังจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นยังไม่ชัดเจนในปีนี้ เพราะยังมีมาตรการช่วยค่าครองชีพประชาขนอยู่ ซึ่งทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ก็จะดูแลอัตราดอกเบี้ยให้มีความเหมาะสมที่จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ โดยการประชุมอีก 2 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ก็จะพิจารณาภาวะเศรษฐกิจเป็นหลัก รวมถึงแรงกดดันเงินเฟ้อ และประเด็นเรื่องภาวะเศรษฐกิจโลก จะต้องดูการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ว่าจะชะลอมากกว่าที่คาดหรือไม่ หรือยังเป็นไปตามคาด