สศอ.เผยดัชนีอุตฯก.ค.พุ่ง 13.16% ขยายตัวต่อเนื่องรับทิศทางศก.โลกฟื้น

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 27, 2010 13:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(MPI) เดือนกรกฎาคม 2553 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 13.16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นการขยายตัวตัวอย่างต่อเนื่อง เป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน หลังจากเผชิญภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลก เมื่อกลางปี 2551 ต่อเนื่องถึงปี 2552 ที่ผ่านมา โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตภาพรวมเฉลี่ย 62.40%

อุตสาหกรรมที่ส่งผลต่อการขยายตัวของ MPI เดือน ก.ค. เมื่อเทียบกับเดีอนเดียวกันของปีก่อน ที่สำคัญได้แก่ การผลิตรถยนต์ การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตเครื่องปรับอากาศ การผลิตผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น

การผลิตรถยนต์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่ายรถยนต์เพิ่มขึ้น 71.8% และ 73.1%ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจของโลกและของประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น โดยตลาดภายในประเทศได้รับผลดีจากค่ายรถยนต์มีการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ออกมาเสนอ เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งรายได้ภาคเกษตรสูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากราคาพืชผลทางการเกษตรสูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อจากภาคเกษตรเป็นแรงสนับสนุนหนึ่งที่ส่งผลต่ออัตราการขยายตัวของการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นผลมาจากความคึกคักของรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างยิ่งหลังจากเพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ขณะที่ตลาดส่งออกผู้ประกอบการมีการปรับแผนการผลิต เพื่อรองรับตลาดส่งออกที่เพิ่มมากขึ้น โดยทั้งปีคาดว่าจะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 1.6 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 60.10% จำหน่ายในประเทศประมาณ 700,000 คัน เพิ่มขึ้น 27.53% และส่งออกประมาณ 900,000 คัน เพิ่มขึ้น 68.05%

การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่ายเพิ่มขึ้น 28.9%และ 27.5%ตามลำดับ เนื่องจากเป็นไปตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และความต้องการชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีอย่างต่อเนื่อง ตามความต้องการในตลาดเทคโนโลยี หรือตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่มีอัตราการเติบโตสูง ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกที่สำคัญจากคำสั่งซื้อที่มีเข้ามาจำนวนมาก จึงส่งผลต่อการขยายตัวทั้งด้านการผลิตและจำหน่ายดังกล่าว ตลาดส่งออกสำคัญของไทย คือ จีน และสหรัฐอเมริกา

การผลิตเครื่องปรับอากาศ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่ายเพิ่มขึ้น 64.2%และ55.6% ตามลำดับ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวผู้ประกอบการได้ส่งสินค้ารุ่นใหม่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นพัฒนาสินค้าที่มีคุณภาพประหยัดพลังงาน และรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ โดยอุตสาหกรรมการผลิต

เครื่องปรับอากาศของประเทศไทยมีขีดความสามารถที่สูงและได้มาตรฐาน สามารถผลิตเครื่องปรับอากาศเป็นไปตามข้อกำหนดของประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะตลาดยักษ์ใหญ่สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป หรือ อียู ที่มีการออกมาตรการเพื่อปกป้องผู้บริโภคมากมาย จนกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับมาตรการเหล่านั้น

การผลิตผลิตภัณฑ์ยาง เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่ายเพิ่มขึ้น 7.1%และ7.3% ตามลำดับ ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในทุกผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะยางล้อรถยนต์ ซึ่งขยายตัวตามทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่มีความคึกคักทั้งตลาดภายในประเทศ และการส่งออก

นางสุทธินีย์ ยังได้สรุปภาพรวม MPI เดือนกรกฏาคม 2553 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ดังนี้ ดัชนีผลผลิต (มูลค่าเพิ่ม) อยู่ที่ระดับ 190.22 เพิ่มขึ้น 13.16% จากระดับ 168.10 ดัชนีการส่งสินค้า อยู่ที่ระดับ 198.43 เพิ่มขึ้น 14.03% จากระดับ 166.12 ดัชนีแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 121.99 เพิ่มขึ้น 10.65% จากระดับ 110.24 ดัชนีผลิตภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 137.78 เพิ่มขึ้น 9.55% จากระดับ 125.76 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง อยู่ที่ระดับ 189.51 เพิ่มขึ้น 9.53% จากระดับ 173.02 โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 62.40%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ