นายมงคล สกุลแก้ว ผู้ช่วยผู้ว่าการแผนงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เผยเตรียมปรับการดำเนินงานตามแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาว(PDP 2010) เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องการสำรองไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการ หลังผู้ผลิตโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่(IPP) เลื่อนกำหนดส่งไฟฟ้าเข้าระบบออกไปจากเดิม โดย กฟผ.จะเร่งดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าวังน้อย 4 และจะนะ 2 ให้เร็วขึ้นกว่าเดิม 3-4 เดือน พร้อมเลื่อนปลดโรงไฟฟ้าบางปะกง 1-2 ออกไปอีก 5 ปี
ทั้งนี้ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินของบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด(NPS) กำลังการผลิต 540 เมกะวัตต์ จะส่งไฟฟ้าเข้าระบบล่าช้าจากกำหนดเดิมช่วงเดือน พ.ย.56-มิ.ย.57 เนื่องจากต้องปฎิบัติตามข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 2 เกี่ยวกับการจัดรายงานผลกระทบด้านสุขภาพ(HIA) และรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
และก่อนหน้านี้โรงไฟฟ้าสยามเอ็นเนอร์ยี่ กำลังการผลิต 1,600 เมกะวัตต์ ได้เปลี่ยนแปลงพื้นที่ก่อสร้าง และเลื่อนส่งไฟฟ้าเข้าระบบออกไปอีก 2 ปีเช่นกัน
ส่วนการพิจารณาปรับขึ้นค่าไฟฟ้านั้น ในส่วนของ NPS ยังไม่ได้มีการยื่นเรื่องขอมา ซึ่งหากยื่นมา กฟผ.ก็คงจะต้องไปดูในสัญญาให้ชัดเจน และคงต้องรอนโยบายจากกระทรวงพลังงานด้วยว่าจะเห็นชอบให้ขยับขึ้นค่าไฟฟ้าหรือไม่ จากก่อนหน้านี้ กพช.ได้เห็นชอบให้ขึ้นค่าไฟฟ้าแก่สยามเอ็นเนอร์ยี่ไปแล้ว 9 สตางค์ต่อหน่วย
ทั้งนี้ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีมติให้โรงไฟฟ้าบางประเภทและบางขนาด เป็น 1 ใน 11 โครงการหรือกิจการที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ได้แก่ โรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดกำลังผลิตรวมตั้งแต่ 100 เมกะวัตต์ขึ้นไป โรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาดกำลังผลิตรวมตั้งแต่ 150 เมกะวัตต์ขึ้นไป โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติขนาดกำลังผลิตรวมตั้งแต่ 3,000 เมกะวัตต์ขึ้นไป และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทุกขนาด
นายมงคล กล่าวว่า ส่วนแผนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 5,000 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าถ่านหิน 7,200 เมกะวัตต์ เป็นแผนระยะยาวที่จะเริ่มเข้าระบบในปี 62 ดังนั้นหากจะทำเอชไอเอ ทาง กฟผ.ก็ยังมีระยะเวลาเพียงพอจึงไม่มีผลกระทบต่อแผน แต่จะก่อสร้างหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการยอมรับของภาคประชาชนด้วย