ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย(TMB)แนะเตรียมตัวระมัดระวังกับเหตุการณ์ที่จะเป็นปัจจัยลบกับการส่งออก เพราะตัวเลขการส่งออกล่าสุดเดือน ก.ค.53 เห็นสัญญาณหดตัวจากเดือน มิ.ย.เกือบร้อยละ 13 (เป็นตัวเลขการส่งออกที่ปรับฤดูกาลแล้ว) ซึ่งเป็นการหดตัวมากที่สุดนับจากช่วงที่เกิดซับไพรม์เมื่อปลายปี 51 ที่เคยหดตัวถึงร้อยละ 18
ทั้งนี้ สินค้าหลักๆ ที่ส่งไปตลาดสำคัญๆ อาทิ ยานยนต์และชิ้นส่วน คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน และชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ ล้วนหดตัว
แม้ว่าเศรษฐกิจครึ่งปีแรกโตแบบเกินคาดถึงร้อยละ 10.6 ขณะที่มีสถานการณ์การเมืองในประเทศจะเป็นตัวถ่วง แต่ด้วยอานิสงส์จากการส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ ทำให้ภาคเอกชนมีการลงทุนและการบริโภคเพิ่มขึ้น
ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเป็นผลจากการส่งออกในช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีระดับต่ำ ทำให้ด้วยการคำนวณจากฐานที่ต่ำจึงทำให้อัตราการเติบโตในปีนี้ดูน่าตื่นเต้น แต่ผลจากฐานต่ำดังกล่าวจะเริ่มหายไปในช่วงครึ่งหลังของปี เมื่อประกอบกับความต้องการสินค้าจากต่างประเทศเริ่มชะลอลงเพราะได้สต๊อกสินค้าไว้ในระดับปกติแล้ว
"การพิจารณาการเปลี่ยนแปลงของตัวเลขการส่งออกแบบรายเดือนน่าจะให้ภาพที่ดีกว่าว่าแรงผลักดันต่อเศรษฐกิจจะไปต่อแบบโรยด้วยกลีบกุหลาบหรือก้านกุหลาบ" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
ประกอบกับ เศรษฐกิจของประเทศหลักๆ อย่างสหรัฐอเมริกาและยุโรป ที่ยังมีความไม่แน่นอน รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจของจีนจากการที่รัฐบาลออกมาตรการลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ