เบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวปาฐกถาในที่ประชุมประจำปีของเฟดซึ่งจัดขึ้นที่เมืองแจ๊คสัน โฮล รัฐไวโอมิ่ง เมื่อเวลาประมาณ 21.00 น.ตามเวลาประเทศไทยเมื่อวานนี้ (27 ส.ค.) โดยเบอร์นันเก้กล่าวว่า เฟดพร้อมที่จะใช้นโยบายผ่อนปรนด้านการเงินเพิ่มเติม หากแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐยังคงอ่อนแอ
"คณะกรรมการกำหนดนโยบายของเฟด (เอฟโอเอ็มซี) พร้อมที่จะใช้นโยบายผ่อนปรนด้านการเงินเพิ่มเติม รวมถึงการใช้มาตรการพิเศษ (unconventional measures) เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนในตลาดสินเชื่อ หากคณะกรรมการเฟดพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งมาตรการพิเศษของเฟดอาจครอบคลุมถึงการเปิดโครงการซื้อพันธบัตรและตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยรองรับ (MBS) ในปริมาณมาก โดยเฟดเคยนำมาตรการดังกล่าวมาใช้ในช่วงที่สหรัฐเผชิญวิกฤตการเงินและภาวะเศรษฐกิจถดถอย เพื่อเป็นช่องทางในการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ตลาดการเงินได้มากขึ้น" เบอร์นันเก้กล่าว
ทั้งนี้ มาตรการพิเศษถือเป็นมาตรการที่ธนาคารกลางไม่ได้นำมาใช้ในช่วงเวลาปกติ แต่จะบังคับใช้ในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์การเงินและเศรษฐกิจที่รุนแรง ซึ่งเป้าหมายหลักคือการลดความตึงตัวของตลาดการเงินและกระตุ้นระบบเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนต่อไปข้างหน้าได้
เบอร์นันเก้ยังกล่าวด้วยว่า "จนถึงขณะนี้ คณะกรรมการเฟดยังไม่ได้ตกลงกันว่าจะใช้มาตรการใด หรือเพิ่มการใช้มาตรการใดอย่างเฉพาะเจาะจง พร้อมกับกล่าวว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการจ้างงานของสหรัฐยังคงอ่อนแอ อย่างไรก็ตาม เบอร์นันเก้เชื่อมั่นว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐจะสูงขึ้นในปี 2554
ในช่วงปี 2552 จนถึงต้นปี 2553 เฟดได้เข้าซื้อตราสาร MBS มูลค่า 1.25 ล้านล้านดอลลาร์ และตราสารที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันของแฟนนี เม และ เฟรดดี แมค ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดหาสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยภายใต้การสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐ (GSE) มูลค่า 1.75 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเพิ่มปริมาณการไหลเวียนของเม็ดเงินในระบบ นอกจากนี้ การดำเนินการดังกล่าวยังมีเป้าหมายที่จะฉุดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวให้ปรับตัวลดลงด้วย
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า แถลงการณ์ของเบอร์นันเก้มีขึ้นหลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยการประเมินตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายประเทศ (จีดีพี) ประจำไตรมาส 2 ปี 2553 ว่า ขยายตัว 1.6% ซึ่งน้อยกว่าที่ประเมินไว้ครั้งก่อนว่าขยายตัว 2.4% และเป็นสถิติที่ขยายตัวรายไตรมาสที่ช้าที่สุดนับตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม จีดีพีไตรมาส 2 ที่ผ่านการทบทวนครั้งล่าสุดนี้ ขยายตัวได้ดีกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะขยายตัวเพียง 1.4%