ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์พุ่งเทียบเยน หลังเบอร์นันเก้ส่งสัญญาใช้มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ข่าวต่างประเทศ Saturday August 28, 2010 08:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งแกร่งขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยนและฟรังค์สวิส ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (27 ส.ค.) หลังจากเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณถึงความพร้อมที่จะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และรายงานที่บ่งชี้ว่าตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2 ของสหรัฐขยายตัวได้ดีกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้

ค่าเงินดอลลาร์ดีดตัวขึ้น 1.09% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 85.370 เยน จากระดับของวันพฤหัสบดีที่ 84.450 เยน และพุ่งขึ้น 0.60% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ระดับ 1.0297 ฟรังค์ จากระดับ 1.0236 ฟรังค์

ค่าเงินยูโรขยับขึ้น 0.09% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.2731 ดอลลาร์ จากระดับของวันพฤหัสบดีที่ 1.2719 ดอลลาร์ และเงินปอนด์อ่อนตัวลง 0.11% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ที่ระดับ 1.5513 ดอลลาร์ จากระดับ 1.5530 ดอลลาร์

ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียพุ่งขึ้น 1.42% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 0.8990 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับของวันพฤหัสบดีที่ 0.8864 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์พุ่งขึ้น 1.34% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 0.7120 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7026 ดอลลาร์

เบอร์นันเก้กล่าวในที่ประชุมประจำปีของเฟดซึ่งจัดขึ้นที่เมืองแจ๊คสัน โฮล รัฐไวโอมิ่ง ว่า เฟดพร้อมที่จะใช้นโยบายผ่อนปรนด้านการเงินเพิ่มเติม รวมถึงการใช้มาตรการพิเศษ (unconventional measures) เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนในตลาดสินเชื่อ หากคณะกรรมการเฟดพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ เบอร์นันเก้เชื่อมั่นว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐจะสูงขึ้นในปี 2554

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่ามาตรการดังกล่าวยังคงมีความไม่แน่นอน เนื่องจากเบอร์นันเก้ระบุว่า จนถึงขณะนี้ คณะกรรมการเฟดยังไม่ได้ตกลงกันว่าจะใช้มาตรการใด หรือเพิ่มการใช้มาตรการใดอย่างเฉพาะเจาะจง พร้อมกับกล่าวว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการจ้างงานของสหรัฐยังคงอ่อนแอ

มาตรการพิเศษถือเป็นมาตรการที่ธนาคารกลางไม่ได้นำมาใช้ในช่วงเวลาปกติ แต่จะบังคับใช้ในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์การเงินและเศรษฐกิจที่รุนแรง ซึ่งเป้าหมายหลักคือการลดความตึงตัวของตลาดการเงินและกระตุ้นระบบเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนต่อไปข้างหน้าได้

ในช่วงปี 2552 จนถึงต้นปี 2553 เฟดได้เข้าซื้อตราสาร MBS มูลค่า 1.25 ล้านล้านดอลลาร์ และตราสารที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันของแฟนนี เม และ เฟรดดี แมค ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดหาสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยภายใต้การสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐ (GSE) มูลค่า 1.75 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเพิ่มปริมาณการไหลเวียนของเม็ดเงินในระบบ นอกจากนี้ การดำเนินการดังกล่าวยังมีเป้าหมายที่จะฉุดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวให้ปรับตัวลดลงด้วย

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยการประเมินตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายประเทศ (จีดีพี) ประจำไตรมาส 2 ปี 2553 ว่า ขยายตัว 1.6% ซึ่งน้อยกว่าที่ประเมินไว้ครั้งก่อนว่าขยายตัว 2.4% และเป็นสถิติที่ขยายตัวรายไตรมาสที่ช้าที่สุดนับตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม จีดีพีไตรมาส 2 ที่ผ่านการทบทวนครั้งล่าสุดนี้ ขยายตัวได้ดีกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะขยายตัวเพียง 1.4%

ปัจจัยที่ทำให้ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2 ชะลอตัวลงมาจากยอดการนำเข้าสินค้าที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ภาคเอกชนปรับลดการลงทุนด้านสต็อกสินค้าลงอย่างหนัก โดยยอดการนำเข้าสินค้าในไตรมาส 2 พุ่งขึ้น 32.4% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2527 และสูงกว่ายอดการนำเข้าที่ขยับขึ้นเพียง 9.1%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ