(เพิ่มเติม) สศค.เผยมีโอกาสปรับประมาณการ GDP ปี 53เป็นโตสูงกว่า 7% จากเดิม 5.5-6.0%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 30, 2010 14:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสาธิต รังคศิริ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)เปิดเผยว่า สศค.มีโอกาสปรับขึ้นประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 53 เป็นเติบโตสูงกว่า 7% จากเดิมคาดไว้ที่ 5.5-6.0% เนื่องจากครึ่งปีแรกเศรษฐกิจขยายตัวได้ถึงกว่า 10% แล้ว และแม้ว่าในครึ่งปีหลังจะมีการอัตราเติบโตชะลอลง แต่ก็ไม่เชื่อว่าจะต่ำกว่า 5% เนื่องจากตัวเลขการใช้จ่ายในประเทศยังขยายตัวได้ดี

"ในเดือนหน้า(ก.ย.)เราจะปรับจีดีพีทั้งปีมีโอกาสปรับขึ้น โดยคาดว่าน่าจะมากกว่า 7% โดยไตรมาสแรกโตไปถึง 12% ไตรมาส 2 โต 9.1% รวมกันครึ่งปีแรกโตไป 10.6% แล้ว และในครึ่งปีหลังก็ไม่น่าเชื่อว่าจีดีพีจะต่ำไปกว่า 5%" นายสาธิต กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายสาธิต คาดว่า จีดีพีในครึ่งปีหลังจะเติบโตต่ำกว่าครึ่งปีแรกทั้งจากปัจจัยภายในและต่างประเทศ โดยในไตรมาส 3/53 จะชะลอตัวตามฤดูกาล และตัวเลขส่งออกที่เริ่มแผ่วลง แต่ก็ยังมีอัตราการเติบโตตามเศรษฐกิจต่างประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐและยุโรป จึงคาดว่าจีดีพีในไตรมาส 3/53 ไม่น่าจะดีกว่าไตรมาส 2/53 ที่เติบโตระดับ 9.1% แต่ในไตรมาส 4/53 จะปรับตัวดีขึ้นทั้งจากการท่องเที่ยวและการส่งออกที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ สศค.จะนำปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจไทยมาทบทวนการประมาณการเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 3/53 ในวันที่ 29 ก.ย.53

ส่วนประเด็นเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ผู้อำนวยการ สศค.คาดว่า สิ้นปี 53 ค่าเงินบาทจะเฉลี่ยที่ 32.10 บาท/ดอลลาร์ จากขณะนี้อยู่ที่ 31.45 บาท/ดอลลาร์ และเมื่อเทียบกับค่าเงินในประเทศเอเชียด้วยกันก็แข็งค่าขึ้นมาเหมือนกันเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น จึงไม่ได้ทำให้ไทยมีปัญหาด้านการแข่งขัน แต่ก็มีบางประเทศที่ค่าเงินอ่อนตัวกว่าไทย ได้แก่ จีน ขณะที่ มาเลเซียมีค่าเงินแข็งกว่าไทย

ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เหตุที่เศรษฐกิจไทยปีนี้มีอัตราเติบโตดี เป็นเพราะมีปัจจัยดีหนุน ได้แก่ รายได้จากคนทำงานยังดีอยู่ ทำให้การบริโภคยังขยายตัวได้ดี โดยอัตราว่างานในเดือน ก.ค.อยู่ที่ 1.2% ซึ่งถือว่าต่ำมาก ช่วยทำให้การบริโภคแข็งแกร่ง

รวมทั้งรายได้จากภาคเกษตรในปีนี้ดีมาก จากผลราคาเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้นเติบโตกว่า 30% และผลจากการรัฐบาลทำประกันราคาสินค้าเกษตร ทั้งนี้ รายได้จากภาคเกษตกรมีสูงถึง 60%ของกำลังแรงงานทั้งประเทศ

และ ความแข็งแกร่งของภาคสถาบันการเงิน ซึ่งไทยไม่มีปัญหา การปล่อยสินเชื่ออุปโภคบริโภคมีการขยายตัวสูงมาก ซึ่งเป็นตัวผลักดันให้การบริโภคเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งหากยังเติบโตได้ดีเช่นนี้ ก็จะทำให้ภาะวเศรษฐกิจดีต่อเนื่องต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ