(เพิ่มเติม) ADVANC-DTAC-TRUE เข้าชิงไลเซ่นส์ 3G กทช.ตัดสิทธิ"วินวิน เอ็นจีวี"

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 30, 2010 18:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.)แถลงผลการเปิดรับลงทะเบียนขอใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ IMT ย่านคลื่นความถี่ 2.1 GHz ในวันนี้ สรุปมีผู้เข้าลงทะเบียนและยื่นเอกสารครบถ้วนจำนวน 3 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ในเครือบมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC), บริษัท ดีแทค อินเตอร์เน็ต เซอร์วิส ในเครือ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น(DTAC) และ บริษัท เรียลมูฟ จำกัด ในเครือ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE)

ขณะที่บริษัท วินวิน เอ็นจีวี ที่เข้ายื่นเอกสารเป็นรายที่ 4 ในวันนี้นั้น จากการตรวจสอบเอกสารในเบื้องต้นพบว่าไม่ครบตามที่กทช.กำหนดไว้ ไม่สามารถแสดงเอกสารทางการเงินได้ครบถ้วน เนื่องจากไม่มีหนังสือแสดงว่าได้รับการสนับสนุนให้มีความพร้อมทางการเงินเพียงพอสำหรับการเข้าประมูล

ทั้งนี้ หากผู้เข้าลงทะเบียนทั้ง 3 รายสอบผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นที่จะมีการประกาศรายชื่อในวันที่ 14 ก.ย.นี้ กทช.ก็จะเปิดประมูลใบอนุญาตจำนวน 2 ใบตามหลักเกณฑ์ N-1 หรือเปิดประมูลจำนวนน้อยกว่าผู้เข้าประมูล

"วันนี้ มีผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHZ 3 ราย ซึ่งเราจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติในวันที่ 14 ก.ย." พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กรรมการ กทช. กล่าว

ทั้งนี้ ผู้ตรวจสอบคุณสมบัติจะมาจากสถาบันการเศึกษา 4 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) หลังการตรวจสอบจาก 4 สถาบันดังกล่าวแล้วจะเสนอให้คณะกรรมการ กทช. พิจารณาและประกาศรายชื่อผู้เข้าร่วมประมูลในวันที่ 14 ก.ย.และเริ่มประมูลในวันที่ 20 ก.ย.นี้

หากทั้ง 3 รายผ่านคุณสมบัติจำนวนผู้ที่ได้รับใบอนุญาต ในรอบนี้จะมีการประมูลใบอนุญาต 2 ใบ ตามเกณฑ์ N-1 และอีก 1 ใบจะเปิดประมูลภายหลังผู้ได้รับใบอนุญาตรอบแรก 90 วัน โดยครั้งถัดไปจะไม่มีการใช้เกณฑ์ N-1 ซึ่งหากมีผู้เข้าร่วมประมูลรายเดียวก็สามารถได้รับใบอนุญาตทันที แต่ราคาตั้งต้นประมูลจะใช้ราคาประมูลของผู้ที่ประมูลได้เป็นลำดับที่ 2 ในรอบแรก เป็นราคาเริ่มต้น

พ.อ.นที เชื่อว่า นักลงทุนต่างชาติจะให้ความสนใจในการประมูลรอบสอง เนื่องจากจะเห็นขั้นตอนการประมูลและความโปร่งใสในรอบแรก แม้ว่าที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติที่สนใจ ต่างเข้ามาขอข้อมูล แต่เกิดความไม่มั่นใจใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่ เรื่องการแปรสัญญาสัปมทาน , อำนาจ กทช. และ กติกาเกี่ยวกับการประมูล ซึ่งต่างชาติยังไม่มั่นใจถ้าต้องแข่งขันกับผู้ประกอบการรายเดิม

"เชื่อว่า การประมูลรอบสอง ต่างชาติจะให้ความสนใจ เพราะจะเห็นตัวอย่างรอบแรก อย่าง Axinta ก็คุยกับเราต่อเนื่อง แม้ว่าสรุปผลครั้งแรกจะไม่สนใจเข้าประมูล แต่ก็ยังขอดูการประมูลครั้งแรกก่อน แล้วจึงจะตัดสินใจอีกครั้ง" พ.อ.นที กล่าว

แต่อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าผู้ที่มายื่นขอรับใบอนุญาต 3 ราย เป็นผู้ประกอบการรายเดิม เป็นเรื่องที่ไม่ได้นอกเหนือความคาดหมายแต่อย่างใด

สำหรับงบประมาณการจัดการประมูลครั้งนี้ กทช.ได้จัดสรรงบ จำนวน 50 ล้านบาท โดยจะจัดประมูลที่หัวหิน เป็นสถานที่ปิด และจะแยกระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้อง และผู้ไม่เกี่ยวข้อง ไว้คนละแห่ง เชื่อมั่นว่าการประมูลครั้งนี้จะโปร่งใส จะเห็นได้จากการให้รายชื่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับการประมูล เพื่อป้องกันการฮั้วการประมูล และการเข้าข่าวเกี่ยวกับการประมูล

ทั้งนี้ วันที่ประกาศผู้ที่ได้รับใบอนุญาต จะได้รับอนุมัติโดยอัตโนมัติ ตามที่ได้เสนอราคาสูงสุด จนกระทั่งไม่มีผู่แข่งขีนราคาแล้ว

ส่วนกรณีที่ คณะกรรมการ บมจ.กสท.โทรคมนาคม มีมติฟ้อง กทช.ว่าไม่มีอำนาจในการเปิดประมูลใบอนุญาต 3G พ.อ.นที กล่าวว่า กทช. ยืนยันว่ามีอำนาจสามารถดำเนินการได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ