ธนาคารกลางอินโดนีเซียเตรียมกดดันธนาคารพาณิชย์เพิ่มการปล่อยสินเชื่อ

ข่าวต่างประเทศ Tuesday August 31, 2010 11:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารกลางอินโดนีเซียเตรียมผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์ในประเทศเพิ่มการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามเพื่อเพิ่มศักยภาพของธนาคารในฐานะตัวกลาง

นายดิฟี โจฮานส์ยาห์ โฆษกธนาคารกลาง กล่าวว่า ธนาคารกลางวางแผนออกกฎข้อบังคับใหม่เกี่ยวกับสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (LDR) ของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะทำให้ธนาคารกลางสามารถบังคับธนาคารพาณิชย์ให้เพิ่มการปล่อยสินเชื่อได้ โดยกฎข้อบังคับใหม่ระบุว่า ธนาคารพาณิชย์ต้องมี LDR ภายในกรอบที่ธนาคารกลางกำหนด มิเช่นนั้นธนาคารพาณิชย์ต้องเพิ่มอัตราเงินสดสำรอง

ขณะที่นายดาร์มิน นาซูชัน ผู้ว่าการธนาคารกลาง แสดงความคาดหวังว่ากฎข้อบังคับใหม่ฉบับนี้จะทำให้ธนาคารพาณิชย์ในประเทศสามารถทำหน้าที่เป็นตัวกลาง เป็นผู้ปล่อยสินเชื่อ และเป็นผู้เก็บเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ผู้ว่าการธนาคารกลางกล่าวว่า ธนาคารที่ดีควรมี LDR ระหว่าง 75-105% อย่างไรก็ตาม เพอร์รี่ วาร์จิโย ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยนโยบายการเงินของธนาคารกลาง เปิดเผยเมื่อไม่นานมานี้ว่า ธนาคารกลางตัดสินใจว่า LDR ของธนาคารควรอยู่ระหว่าง 78-102% ขณะที่ข้อมูลจากธนาคารกลางระบุว่า LDR เฉลี่ยของธนาคารในประเทศอยู่ที่ระดับ 75% ในช่วงครึ่งปีแรก

นักวิเคราะห์ตอบรับแผนการใช้กฎข้อบังคับใหม่เป็นอย่างดี โดยกล่าวว่ากฎข้อบังคับดังกล่าวจะทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องเพิ่มการปล่อยสินเชื่อโดยไม่มีทางเลือก เนื่องจากหากธนาคารเก็บเงินไว้เฉยๆ ทางธนาคารก็ต้องจ่ายต้นทุนเพิ่มขึ้น

ธนาคารกลางอินโดนีเซียเปิดเผยว่า กฎข้อบังคับดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้อย่างเต็มที่ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า และจะมีธนาคารรายใหญ่อย่างน้อย 4 แห่งที่ต้องเผชิญความยากลำบากในการทำตามกฎข้อบังคับใหม่ โดยธนาคารแบงก์ มันดิรี, แบงก์ เซ็นทรัล เอเชีย และ แบงก์ เนการา อินโดนีเซีย ซึ่งมี LDR ที่ระดับ 66%, 51% และ 68% ตามลำดับ คงต้องใช้เวลาไม่น้อยในการปรับตัว ขณะที่แบงค์ ทาบันกัน เนการ่า ซึ่งมี LDR 116% ก็ต้องใช้เวลาในการลดระดับ LDR สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ