นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากคณะกรรมาธิการยุโรปได้ออกมาตรการ EC669/2009 เพื่อเพิ่มระดับการควบคุมสินค้าอาหารและอาหารสัตว์นำเข้าที่มีแหล่งกำเนิดจากพืช ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2553 ส่งผลให้ผักที่ส่งออกจากประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยต้องถูกตรวจเข้มทันที 50% ณ ด่านนำเข้า โดยเป็นการตรวจหาสารเคมีจากยาฆ่าแมลงตกค้างในผัก 3 ประเภทหลัก ได้แก่ ผักในตระกูลถั่ว มะเขือ และกะหล่ำนั้น
ผลที่ออกมาพบว่ามีการพบสารตกค้างสูงกว่าในปี 2552 ที่ผ่านมาซึ่งใช้ลักษณะการสุ่มตรวจ และจะมีการขยายมาตรการดังกล่าวไปถึงผักอีก 3 ประเภท คือ กระเพรา-โหระพา ผักชี และใบสะระแหน่ ในวันที่ 1 ตุลาคม 2553 นอกจากนั้น สภาหอการค้าฯ ยังมีความกังวลในผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปบางตัวที่มีส่วนผสมของผัก อาทิ เครื่องแกง ว่าอาจถูกเพิ่มการตรวจด้วย
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้หารือร่วมกับคณะผู้แทนจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับการจัดตั้งคณะกรรมการระหว่างกระทรวงเกษตรฯ และสภาหอการค้าฯ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน เพื่อดูแลเรื่องดังกล่าว รวมถึงการคัดฟาร์มหรือผู้ผลิตที่มีมาตรฐานการส่งออกของแต่ละประเทศ เพื่อรองรับการส่งสินค้าให้กับบริษัทผู้ส่งออกอีกด้วย ซึ่งจะต้องมีการหารือกันอีกครั้งถึงองค์ประกอบและหน้าที่ของคณะกรรมการตามแนวคิดข้างต้นในเร็วๆ นี้
นอกจากนี้ ยังหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ทั้งในส่วนของแนวทางการดำเนินงานอาหารปลอดภัย การทำเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) ให้เป็นมาตรฐาน และการ Pre-Qualification (PQ) เพื่อคัดกรองกลุ่มบริษัทผู้ส่งออกที่มีคุณภาพและปฏิบัติตามกฎระเบียบของประเทศคู่ค้าต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง ออกจากกลุ่มที่ฝ่าฝืนและทำให้สินค้าเกษตรไทยในภาพรวมได้รับผลกระทบ
ด้านนายปฐม แทนขำ นายกสมาคมผู้ประกอบการพืชผักผลไม้ไทย กล่าวว่า การหารือร่วมกับกระทรวงเกษตรฯในครั้งนี้ เพื่อต้องการหาความร่วมมืออย่างจริงจังระหว่างหน่วยงานเอกชนและภาครัฐ ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลตั้งแต่การผลิตและการรับรอง ว่าจะต้องดำเนินการตั้งแต่ต้นทางให้มีมาตรฐาน และมีมาตรการแยกกลุ่มผู้ประกอบการส่งออกที่ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบคู่ค้าออกจากกลุ่มที่ดำเนินการถูกต้อง ป้องกันไม่ให้ความเชื่อมั่นในสินค้าเกษตรจากประเทศไทยลดลง โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าประเภทผักสดซึ่งมีมูลค่าการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปกว่า 8,000 ล้านบาท ต้องป้องกันไม่ให้เสียส่วนแบ่งไป เนื่องจากทางสหภาพยุโรปจะมีความอ่อนไหวเมื่อตรวจพบสารตกค้างเพิ่มขึ้น และอาจเพิ่มประเภทสินค้าสำหรับการตรวจเข้มด้วย ซึ่งการตั้งคณะกรรมการร่วมอาจเป็นการแก้ไขปัญหาได้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากจะเป็นเวทีให้ภาครัฐและเอกชนได้แลกเปลี่ยนข้อมูล ข้อเท็จจริงระหว่างกันอย่างรวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ และมีมาตรการต่างๆ ที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น อันจะส่งผลดีให้กับทั้งผู้ค้าและผู้ผลิตได้รับประโยชน์ร่วมกัน