นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังจากการเป็นประธานเปิดการสัมมนาเรื่องการค้าการลงทุนภายใต้กรอบ ACMECS ว่า ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy) หรือ ว่า กรอบความร่วมมือ ACMECS ว่า สถานการณ์การค้าของไทยกับประเทศสมาชิก ACMECS มีมูลค่าเพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากสภาพทางภูมิศาสตร์ ที่มีเขตแดนและเส้นทางเชื่อมโยงกัน กล่าวคือ ใน 7 เดือนแรกของปี 2553 (มกราคม — กรกฎาคม) ไทย มีการค้าชายแดนกับ กัมพูชา สปป.ลาว และสหภาพพม่า มูลค่ารวมถึง 162,884 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2552 ซึ่งมีมูลค่า 142,942 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.95 โดยมีมูลค่าการส่งออก 99,772 ล้านบาท และมูลค่าการนำเข้า 63,112 ล้านบาท โดยเป็นการค้าชายแดนกับ สหภาพพม่า มากเป็นอันดับ 1 มูลค่า 79,339 ล้านบาท รองลงมาเป็นสปป.ลาว มูลค่า 50,747 ล้านบาท และกัมพูชา มูลค่า 32,799 ล้านบาท
สำหรับการค้าระหว่างประเทศไทยกับเวียดนาม มีมูลค่า 127,341 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2552 ซึ่งมีมูลค่า 107,269 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ18.71 โดยมีมูลค่าส่งออก 102,002 ล้านบาท และมูลค่านำเข้า 25,339 ล้านบาท
นายยรรยง กล่าวว่า จากมูลค่าการค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี จะเห็นว่าตลาดประเทศเพื่อนบ้านในกรอบ ACMECS มีความสำคัญและมีศักยภาพที่ภาคเอกชนไทยควรให้ความสนใจเข้าไปทำการค้าและลงทุน บนพื้นฐานผลประโยชน์ร่วมกัน โดยมีภาครัฐให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวก
อนึ่ง กรอบความร่วมมือ ACMECS มีสมาชิกทั้งหมด 5 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว สหภาพพม่า ไทย และเวียดนาม ซึ่งจัดตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2546 โดยไทยเป็นผู้ริเริ่ม วัตถุประสงค์ของกรอบความร่วมมือดังกล่าวเพื่อสร้างงาน ลดความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ระหว่างประเทศสมาชิกและใช้ประโยชน์จากความแข็งแกร่งและความหลากหลายของประเทศสมาชิกในการส่งเสริมการพัฒนาอย่างสมดุล โดยมีการดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือรวม 8 สาขา ได้แก่ การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน เกษตรกรรม อุตสาหกรรมและพลังงาน การคมนาคม การท่องเที่ยว การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม