นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน ก.ค.53 ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับการขยายตัวในเดือนก่อนหน้า
การบริโภคภาคเอกชน การส่งออก และการผลิต ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยชั่วคราว และอีกส่วนหนึ่งจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวสูงมากในช่วงก่อนหน้า สำหรับภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการกลับเข้ามาของนักท่องเที่ยวจากประเทศในกลุ่มอาเซียนและจีน เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวดีต่อเนื่อง
"โดยรวมแล้วเศรษฐกิจเดือนก.ค.ชะลอตัวลงจากเดือนมิ.ย. เพราะเศรษฐกิจไตรมาส 2 มาขยายตัวแบบกระจุกตัวในเดือนมิ.ย. เพราะ เม.ย.-พ.ค.มีปัญหาการเมือง ทำให้ฐาน มิ.ย.สูงมาก ดังนั้น ถ้าเทียบก.ค.ด้านการบริโภคและส่งออกจึงขยายตัวต่ำ จึงดูว่าชะลอลงจากเดือน มิ.ย."นายเมธี กล่าว
นายเมธี กล่าวว่า ธปท.คาดว่าการส่งออกในเดือนต่อไปน่าจะขยายตัวได้ดีขึ้น เนื่องจากในเดือน ก.ค.มีการเร่งนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์มาก ดังนั้นคาดว่าการผลิตเพื่อการส่งออกในเดือนต่อไปก็จะสูงขึ้น ประกอบกับ เครื่องชี้การส่งออกระยะต่อไประบุว่าจะดีขึ้นด้วยโดยเครื่องชี้ของกระทรวงพาณิชย์จัดทำก็อยู่ในระดับ 50 ถือว่าสูง ดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศปรับตัวดีขึ้น และการผลิตภาคอุตสาหกรรม มิ.ย.อย่ในระดับสูง
ธปท.มองว่า การผลิตสิ่งทออาจจะลอลงบ้าง หลังจากมีการเร่งผลิตเดือน มิ.ย.รวมทั้งจะมีการปิดซ่อมปิโตรเลียมชั่วคราว แต่โดยรวมภาคการผลิตยังขยายตัวดีในเดือน ก.ค.ถึง 16.3% ขณะเดียวก็พบว่าการขยายตัวของสินเชื่อสถาบันการเงินสูงถึง 8.9% ซึ่งเป็นทั้งการขยายตัวของทั้งภาคครัวเรือนและการลงทุน โดยสินเชื่อเพื่อการลงทุนขยายตัวต่อเนื่องมา 3 เดือนแล้ว
นายเมธี กล่าวว่า หากดูตัวเลขเศรษฐกิจครึ่งหลังของปีนี้เทียบกับครึ่งปีหลังของปีก่อนอาจะเห็นชะลอลงบ้าง เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ปลายปีก่อน ทำให้ตัวเลขค่อนข้างสูง แต่ถ้ามองไตรมาสเทียบไตรมาสไม่ได้ชะลอลง โดยไตรมาส 3/53 และไตรมาส 4/53 อาจจะขยายตัวใกล้เคียงกับไตรมาส 2/53 แม้ว่าจะไม่สูงเท่ากับไตรมาสแรก
โดยรวมแรงส่งการขยายตัวของเศรษฐกิจยังมีอยู่ การบริโภคในประเทศยังดีอยู่ สามารถชดเชยการชะลอตัวของการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังไม่ชะลอตัว แม้ว่าจะมีปัญหาการเมืองเดือน เม.ย.-พ.ค.ที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีการลงทุนอยู่ ส่วนการใช้กำลังการผลิตโดยรวมอยู่ที่ 67% แต่บางอุตสาหกรรมสูงกว่านั้น เช่น อิเลคทรอนิกส์ ยาง และ เคมีภัณฑ์ ประกอบกับความเชื่อมั่นภาคธุรกิจยังสูง ซึ่งการลงทุนมีทั้งการลงทุนใหม่และการขยายกำลังการผลิตเดิม
อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจก็ได้รับรู้ถึงการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมาแล้ว 2 ครั้ง แต่โดยรวมยังไม่เห็นผลกระทบ ตออนนี้ภาคธุรกิจยังรับได้เพราะต้นทนยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งจากการสอบสวนผู้ผลิตยังไม่พบปัญหาต่ออัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้น