ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: วิตกทิศทางเศรษฐกิจ ฉุดดอลล์ร่วงเทียบสกุลเงินหลักๆ

ข่าวต่างประเทศ Wednesday September 1, 2010 07:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (31 ส.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐ หลังจากคณะกรรมกำหนดนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐได้ออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่เงินเยนพุ่งขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ เนื่องจากนักลงทุนไม่ให้น้ำหนักกับมาตรการสกัดกั้นเงินเยนแข็งค่าของธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ)

ค่าเงินยูโรดีดขึ้น 0.15% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.2682 ดอลลาร์ จากระดับของวันจันทร์ (30 ส.ค.) ที่ 1.2663 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลง 0.73% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.5350 ดอลลาร์ จากระดับ 1.5463 ดอลลาร์

ค่าเงินดอลลาร์ดิ่งลง 0.74% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 83.970 เยน จากระดับของวันจันทร์ที่ 84.600 เยน และดิ่งลง 1.12% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ 1.0144 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0259 ดอลลาร์

ส่วนค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนตัวลง 0.18% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 0.8904 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับของวันจันทร์ที่ 0.8920 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ดิ่งลง 1.29% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 0.6976 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7067 ดอลลาร์สหรัฐ

ภาวะการซื้อขายในตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กยังคงผันผวน โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ หลังจากรายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ระบุว่า คณะกรรมการเฟดได้แสดงความวิตกกังวลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจากผลผลิตทางเศรษฐกิจและตัวเลขจ้างงานชะลอตัวลงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และคาดว่าในระยะใกล้นี้ เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวในระดับต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่วนตัวเลขการใช้จ่ายภาคครัวเรือนนั้น แม้ว่าเริ่มฟื้นตัวขึ้น แต่ก็ถูกจำกัดจากอัตราว่างงานที่ยังเคลื่อนไหวในระดับสูงและภาวะตึงตัวในตลาดสินเชื่อ

ความวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐยังคงสร้างแรงกดดันในตลาด แม้สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์/เคส ชิลเลอร์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาบ้านใน 20 เขตเมืองของสหรัฐประจำเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 0.3% จากเดือนพ.ค. มากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะขยับขึ้นเพียง 0.2% ขณะที่คอนเฟอเรนซ์ บอร์ด ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยเอกชนของสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐในเดือนส.ค.พุ่งขึ้นสู่ระดับ 53.5 จุด จากเดือนก.ค.ที่ระดับ 51 จุด

ส่วนเงินเยนยังคงแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากมาตรการผ่อนปรนด้านการเงินของบีโอเจไม่สามารถสกัดกั้นการแข็งค่าของเงินเยนได้ โดยมาตรการของบีโอเจที่ประกาศใช้ครั้งนี้ครอบคลุมถึงการขยายโครงการปล่อยเงินกู้เป็น 30 ล้านล้านเยน จากเดิม 20 ล้านล้านเยน ด้วยอัตราดอกเบี้ยคงที่ 0.1%

เงินเยนแข็งค่าเนื่องจากนักลงทุนทุ่มซื้อสกุลเงินเยนเพราะเชื่อว่าเป็นการลงทุนที่ปลอดภัยมากกว่าถือครองสกุลเงินของยุโรปและสหรัฐที่เศรษฐกิจภายในประเทศกำลังอ่อนแอ ด้วยมุมมองเช่นนี้ ทำให้นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่ามาตรการครั้งล่าสุดของบีโอเจจะไม่ช่วยให้วงจรดังกล่าวหมดไป และอาจเป็นเหตุให้เงินเยนด้อยมูลค่าลงอย่างฉับพลัน

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจทางฝั่งยุโรปนั้น สำนักงานแรงงานกลางของรัฐบาลเยอรมนีเปิดเผยเมื่อวานนี้ว่า อัตราว่างงานประจำเดือนส.ค.ของเยอรมนี ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 7.6% เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจช่วยกระตุ้นตลาดแรงงานให้คึกคักขึ้นด้วย

ขณะที่ GfK NOP Ltd. เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของอังกฤษในเดือนส.ค.เพิ่มสูงขึ้น 4 จุด มาอยู่ที่ระดับติดลบ 18 ท่ามกลางสัญญาณบ่งชี้ถึงการดีดตัวทางเศรษฐกิจซึ่งช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค

นอกจากนี้ ยูโรสแตท (Eurostat) ซึ่งเป็นสำนักงานสถิติของสหภาพยุโรป (อียู) เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อของ 16 ประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโรขยายตัวที่ระดับ 1.6% ในเดือนส.ค. ชะลอตัวลงจากระดับ 1.7% ในเดือนก.ค. โดยราคาพลังงานและอาหารที่สูงขึ้นเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้เงินเฟ้อสูงขึ้นในเดือนส.ค. ซึ่งข้อมูลราคาผู้บริโภคบ่งชี้ว่า การขยายตัวของราคาสินค้ายังอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายที่ธนาคารกลางยุโรปต้องการควบคุมให้อัตราเงินเฟ้อเคลื่อนไหวที่ระดับต่ำกว่า 2%

นักลงทุนจับตาดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ รวมถึงดัชนีภาคการผลิตเดือนส.ค. ข้อมูลค่าใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเดือนก.ค. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ยอดการทำสัญญาซื้อบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เดือนก.ค. ดัชนีภาคบริการและดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจเดือนส.ค. และตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนส.ค.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ