(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย ส.ค.53 CPI เพิ่มขึ้น 3.3%,Core CPI ขยับเพิ่ม 1.2%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 1, 2010 10:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(CPI) ในเดือน ส.ค.53 อยู่ที่ 108.57 เพิ่มขึ้น 3.3% จากเดือน ส.ค.52 และเพิ่มขึ้น 0.23% จากเดือน ก.ค.53 ขณะที่ CPI ช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-ส.ค.) ขยายตัว 3.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน(Core CPI) ไม่รวมหมวดสินค้าอาหารสดและพลังงานในเดือน ส.ค.53 อยู่ที่ระดับ 103.68 เพิ่มขึ้น 1.2% จากเดือน ส.ค.52 และเพิ่มขึ้น 0.01% จากเดือน ก.ค.53 ขณะที่ Core CPI ช่วง 8 เดือนแรก ขยายตัว 0.8%

สำหรับดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มในเดือน ส.ค.53 อยู่ที่ 124.57 เพิ่มขึ้น 7.5% จากเดือน ส.ค.52 และเพิ่มขึ้น 0.48% จากเดือน ก.ค.53 ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 98.81 เพิ่มขึ้น 1.0% จากเดือน ส.ค.52 และเพิ่มขึ้น 0.07% จากเดือน ก.ค.53

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปในเดือน ส.ค.53 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่สูงขึ้น 3.3% นั้น เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ถือว่าเป็นการขยายตัวในระดับที่เหมาะสมกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 8 เดือนแรกของเดือนนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น 3.5% นั้นถือว่าอยู่ในช่วงที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ตั้งแต่ต้นปี และคาดว่าทั้งปี 53 อัตราเงินเฟ้อจะเป็นไปตามเป้าหมายเดิมที่วางไว้ที่กำหนดไว้ 3.0-3.5%

สำหรับสาเหตุสำคัญมาจากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่สูงขึ้นเกือบ 7.5% โดยได้รับผลกระทบมาจากสินค้าในหมวดข้าว แป้ง ผลิตภัณฑ์จากแป้ง เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ สัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์นม ไข่ ผักและผลไม้ เป็นต้น รวมทั้งได้รับผลกระทบจากดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มที่ปรับตัวสูงขึ้น 1.0% เช่น หมวดเคหะสถาน หมวดการบันเทิง หมวดการศึกษา หมวดยาสูบ และค่าบริการส่วนบุคคล เป็นต้น

ขณะที่ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปในเดือน ส.ค.53 เมื่อเทียบกับเดือน ก.ค.53 สูงขึ้น 0.23% เป็นภาวะที่ราคาสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าอาหารสดและสินค้าอุปโภคบางรายการมีการปรับราคาสูงขึ้น โดยปัจจัยสำคัญที่ยังส่งผลให้ภาวะราคาสินค้าอยู่ในระดับสูง ได้แก่ ราคาสินค้าประเภทผลไม้สด ข้าวสารเหนียว ปลา และสัตว์น้ำ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ น้ำมันเชื้อเพลิง และแบตเตอรี่รถยนต์

ส่วนสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ผักสด เนื้อสุกร ไก่สด ข้าวสารเจ้า ไข่ ผลิตภัณฑ์นม ตลอดจนวัสดุก่อสร้างและของใช้ส่วนบุคคลบางชนิด

นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในช่วง 4 เดือนที่เหลือของปี 53 คาดว่าจะเริ่มชะลอตัวลงหลังจากที่จะหมดช่วงเวลาการตรึงราคาสินค้าตามมาตรการของกระทรวงพาณิชย์ที่จะสิ้นสุดในเดือน ก.ย.53 โดยคาดว่าเงินเฟ้อเฉลี่ยในแต่ละเดือนหลังจากนี้ไปถึงสิ้นปี 53 จะอยู่ในระดับประมาณ 3.2-3.3% คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั้งปียังคงอยู่ในกรอบที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ว่าไม่เกิน 3.5%

"หลังจากที่หมดระยะเวลาในการตรึงราคาสินค้าแล้วคาดว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ จะอยู่ที่ 3.2-3.3% ซึ่งอัตราเงินเฟ้อจะเริ่มชะลอตัวลง จากภาวะและสิ่งแวดล้อมทั่วไปที่เป็นแบบนี้จะค่อยๆปรับตัวลง" ปลัดกระทรวงพาณิชย์กล่าว

และแม้ว่ากระทรวงพาณิชย์จะไม่ขยายเวลาการตรึงราคาสินค้าออกไปจากที่จะสิ้นสุดในเดือนก.ย.นี้ออกไป ก็เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อเป้าหมายเงินเฟ้อของปีนี้ที่ 3.0-3.5%

อย่างไรก็ดี จากคาดการณ์แนวโน้มเงินเฟ้อทั้งปีที่ระดับ 3.0-3.5% อยู่ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบทั้งปี อยู่ที่ 60-80 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนที่ 31-33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของรัฐบาล

ส่วนการคาดการณ์เรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่จะทยอยปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 เป็นต้นไป กระทรวงพาณิชย์ไม่ได้นำมาเป็นสมมติฐานเรื่องอัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญมากนักต่อการคำนวนต้นทุนสินค้า เพราะเรื่องอัตราดอกเบี้ยจะมีผลต่อการจับจ่ายใช้สอยและขีดความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยมากกว่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ