กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เรียกร้องให้กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วผลักดันการปฏิรูปนโนบายการคลังในระยะยาวเพื่อควบคุมหนี้สาธารณะ
รายงานการวิจัยของไอเอ็มเอฟระบุว่า "เพื่อเป็นการประคับประคองการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เปราะบาง และกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงสร้างงานและสร้างหลักประกันต่อตลาดทุน กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วต้องปรับนโยบายการคลังให้มีความชัดเจนมากขึ้น โดยมุ่งถึงนโยบายที่มีผลต่อเศรษฐกิจในระยะกลางมากกว่าที่จะหาวิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้า"
ด้านคาร์โล คอตทาเรลลี ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการการคลังของไอเอ็มเอฟกล่าวว่า ระดับหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วพุ่งขึ้นมาสู่ระดับที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน โดยเฉพาะหนี้สินภาครัฐในกลุ่มประเทศจี20 ที่ทะยานขึ้นจากระดับ 78% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เมื่อปี 2550 มาอยู่ที่ระดับ 97% ของจีดีพีในปี 2552 และคาดว่าจะถีบตัวขึ้นแตะ 115% ของจีดีพีในปี 2558
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ระดับหนี้สาธารณะในประเทศที่พัฒนาแล้วหลายแห่งปรับตัวสูงขึ้น ในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินและภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
"หนี้สาธารณะที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นผลมาจากวิกฤตการเงินและการใช้นโยบายการคลังที่อ่อนแอมากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่ระดับหนี้สินพุ่งสูงขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบาก" คอตทาเรลลีกล่าว
"ปัญหาต่อไปที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะยิ่งมีความยุ่งยากซับซ้อนต่อการกำหนดนโยบายการคลังมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาด้านสังคมผู้สูงอายุและภาวะโลกร้อนที่จะยิ่งสร้างแรงกดดันต่อการใช้จ่ายเงินภาครัฐ ซึ่งเราอยากเรียกร้องรัฐบาลให้ความสำคัญกับการปฏิรูปนโยบายการคลังในระยะยาวเพื่อสร้างความมั่นใจว่า ตัวเลขหนี้สินในอีกหลายสิบปีต่อจากนี้จะอยู่ในระดับที่น่าพอใจ" คอตทาเรลลีเสริม