นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังจะส่งมอบเงินช่วยเหลือราว 600 ล้านบาท ตามมาตรการช่วยเหลือพิเศษให้แก่ผู้ประกอบการที่ถูกเพลิงไหม้อันเนื่องมาจากการชุมนุม และผู้ที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากเพลิงไหม้ เช่น น้ำดับเพลิง สารเคมี และควันไฟ โดยจะได้มีผู้ได้รับความช่วยเหลือกว่า 2,400 ราย ซึ่งจะดำเนินการส่งมอบเงินช่วยเหลือตามความพร้อมของเอกสาร
สำหรับการส่งมอบเช็คเยียวยาสำหรับผู้ประสบภัยแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ 1.ผู้ประกอบการที่ถูกเพลิงไหม้โดยตรง ให้ความช่วยเหลือคิดจากตารางเมตรที่ใช้ทำธุรกิจต่อบุคคล/นิติบุคคล ในอัตรา 10,000 บาท/ตารางเมตร สูงสุดไม่เกิน 50 ตารางเมตร เป็นเงินไม่เกิน 500,000 บาท ทั้งนี้ผู้ประกอบการที่ถูกเพลิงไหม้ทุกรายจะได้รับเงินช่วยเหลือขั้นต่ำตามตารางเมตรที่ใช้ทำธุรกิจไม่น้อยกว่า 50,000 บาท
2.ผู้ประกอบการที่ไม่ได้ถูกเพลิงไหม้โดยตรง แต่ได้รับความเสียหายที่เกี่ยวเนื่องจากเพลิงไหม้ เช่น น้ำดับเพลิง, สารเคมี และควันไฟ จะได้รับเงินช่วยเหลือครึ่งหนึ่งของผู้ที่ถูกเพลิงไหม้โดยตรง ในอัตรา 5,000 บาท/ตารางเมตร สูงสุดไม่เกิน 50 ตารางเมตร เป็นเงินไม่เกิน 250,000 บาท ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ไม่ได้ถูกเพลิงไหม้โดยตรง แต่ได้รับความเสียหายที่เกี่ยวเนื่องจากเพลิงไหม้ทุกรายจะได้รับเงินช่วยเหลือขั้นต่ำตามตารางเมตรที่ใช้ทำธุรกิจไม่น้อยกว่า 25,000 บาท
อนึ่ง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ประเมินความเสียหายอันเนื่องมาจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 12 มี.ค.-21 พ.ค.53 จำนวนเงินกว่า 24,000 ล้านบาท โดยความเสียหายทั้งหมดรวมไปถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยว, ธุรกิจในพื้นที่และลูกจ้าง, ผู้อาศัย, สายการบินต่างๆ รวมไปถึงความน่าเชื่อถือของประเทศ
อย่างไรก็ดี จนถึงปัจจุบันนี้ รัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัย ที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบทางการเมือง ทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงิน ดังนี้ 1.เงินช่วยเหลือเบื้องต้นเป็นเงินสด รายละ 50,000 บาท โดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และ รายละ 10,000 บาท โดย กทม.ภายใต้วงเงินประมาณ 251 ล้านบาท 2.ค่าสงเคราะห์กรณีบาดเจ็บ และเสียชีวิต รายละตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 400,000 บาท 3.เงินช่วยเหลือลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างทั้งในระบบประกันสังคมและนอกระบบ วงเงิน 10 ล้านบาท
4.เงินให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่รักษาสภาพการจ้างงานจำนวน 1 เดือน วงเงินประมาณ 500 ล้านบาท 5.เงินสนับสนุนค่าเช่าในช่วงที่ไม่สามารถดำเนินกิจการได้ตามปกติ วงเงิน 311 ล้านบาท 6.จัดหาสถานที่ขายสินค้าชั่วคราวให้กับผู้ประกอบการที่ถูกไฟไหม้ 7.สนับสนุนวงเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องในอัตราดอกเบี้ยต่ำ และมีระยะเวลาปลอดชำระเงินต้น 2 ปี ภายใต้วงเงินงบประมาณ 10,000 ล้านบาท
8.ผ่อนปรนระยะเวลาการยื่นชำระค่าสาธารณูปโภคและภาษีบางรายการ 9.มาตรการภาษีโดยยกเว้นเงินได้สำหรับเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ และเพิ่มค่าใช้จ่ายทางภาษีสำหรับความเสียหายในทรัพย์สินที่ถูกเพลิงไหม้หรือผลกระทบเนื่องจากเพลิงไหม้ เช่น น้ำดับเพลิง, สารเคมี และควันไฟ