พณ.ตั้งคณะทำงานร่วมส.อ.ท.หามาตรการด่วนช่วยผู้ส่งออกจากปัญหาบาทแข็งค่า

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 2, 2010 17:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ (ส.อ.ท.) ว่า จะตั้งคณะทำงานร่วมกระทรวงพาณิชย์และ ส.อ.ท.เพื่อแก้ไขปัญหาให้ภาคส่งออกที่กำลังได้รับผลกระทบจากภาวะเงินบาทที่แข็งค่ามาอยู่ที่ระดับ 31 บาท/ดอลลาร์ โดยเบื้องต้นจะหามาตรการที่เหมาะสมมาดูแลผู้ส่งออก เช่น การใช้เงินสกุลเดียวจ่ายค่าระวางเรือ เพื่อลดความสูญเสียจากอัตราแลกเปลี่ยน, ผลักดันให้ทุกธนาคารรับทำแพ็กกิ้งเครดิตเงิน 2 สกุล ทั้งดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเงินยูโร จากเดิมที่รับเฉพาะดอลลาร์สหรัฐฯเท่านั้น เป็นต้น

"ในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจย่อย ธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) บอกว่าค่าเงินบาทแข็งค่า ไม่มีผล เพราะมองเศรษฐกิจภาพรวม แต่ผู้ผลิตส่งสัญญาณว่าผลกระทบมีแน่ ซึ่งต้องเอาข้อเท็จจริงมาว่ากัน เพราะถ้าไม่ทำอะไรเลย ภาคส่งออกจะขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจนไม่สามารถรับคำสั่งซื้อได้อีก ภาครัฐต้องดูแล เพื่อให้การส่งออกภาพรวมปีนี้เป็นไปตามเป้าหมายขยายตัว 20% เพราะเชื่อว่าธปท.คงไม่ปล่อยให้ค่าเงินไหลลงมากกว่า 30 บาท/ดอลลาร์" นางพรทิวา กล่าว

ด้านนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ขณะนี้ภาคการส่งออกได้รับผลกระทบมาก โดยแบ่งผลกระทบเป็น 2 กลุ่ม คืออุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบน้อย เช่น กลุ่มที่ใช้วัตถุดิบในประเทศน้อย จะขาดทุนกำไร ซึ่งยังประคองตัวอยู่ได้ และกลุ่มได้รับผลกระทบมาก หรือกลุ่มที่ใช้วัตถุดิบในประเทศสูงถึง 80-90% เช่น สิ่งทอ, เกษตรและเกษตรแปรรูป มีสัดส่วนต่อการส่งออกภาพรวม 10% ซึ่งกลุ่มนี้มีกำไรเพียง 5% ขณะที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น 7% แม้จะมีการรับคำสั่งซื้อล่วงหน้า 5 เดือน ก็ยังขาดทุน และทำธุรกิจลำบาก เพราะต้องแข่งขันกับคู่แข่งที่ค่าเงินแข็งค่าน้อยกว่า

ด้านนายวัลลภ วิตนากร รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ภาคเอกชนได้เสนอแนวทางปรับตัวรับมือค่าเงินบาทที่สามารถดำเนินการได้ทันที โดยรายใดที่ไม่ได้ทำประกันค่าเงินไว้ จะต้องเร่งปรับมาใช้วัตถุดิบนำเข้าผลิตสินค้าให้มากขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์จากบาทแข็ง โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม มีสัดส่วนใช้วัตถุดิบในประเทศ 65% และใช้วัตถุดิบนำเข้า 35-40% ส่วนกลุ่ม SMEs ต้องได้รับความร่วมมือจากสถาบันการเงินในการปล่อยแพคกิ้งเครดิตให้เป็น 2 สกุล เพื่อยืดหยุ่นในการทำธุรกรรม และลดผลกระทบค่าเงินผันผวน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ