เบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แถลงต่อคณะกรรมาธิการฝ่ายตรวจสอบวิกฤตการณ์การเงินของสหรัฐ (Financial Crisis Inquiry Commission) ว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายออกกฎข้อบังคับของสหรัฐควรเตรียมพร้อมเรื่องการปิดสถาบันการเงินขนาดใหญ่ หากสถาบันการเงินเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อระบบการเงินภายในประเทศ
การแถลงต่อคณะกรรมาธิการฝ่ายตรวจสอบวิกฤตการณ์การเงินมีเป้าหมายที่จะให้รายละเอียดเกี่ยวกับการใช้มาตรการยับยั้งวิกฤตการณ์การเงิน และแสดงมุมมองเกี่ยวกับความเสี่ยงเชิงระบบที่เป็นผลมาจากสถาบันการเงินขนาดใหญ่ โดยมีนางเชียลา แบลร์ ประธานบรรษัทประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FDIC) เข้าร่วมแถลงด้วย
"หากเราศึกษาบทเรียนจากวิกฤตการณ์การเงิน ก็จะพบว่าปัญหาของสถาบันการเงินกลุ่มที่ถูกมองว่าใหญ่เกินกว่าที่จะปล่อยให้ล้ม (too big too fail) นั้น จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข" เบอร์นันเก้กล่าวต่อคณะกรรมการ
เบอร์นันเก้กล่าวว่า การที่เฟดตัดสินใจไม่กอบกู้กิจการเลห์แมน บราเธอร์ส ให้รอดพ้นจากการล้มละลายในปี 2551 นั้น เนื่องจากเลห์แมน บราเธอร์ส อดีตวาณิชธนกิจรายใหญ่แห่งวอลล์สตรีท ไม่มีประสิทธิภาพในการปล่อยเงินกู้ พร้อมกล่าวว่า การใช้เงินภาษีราษฎรเพื่อพยุงสถาบันการเงินเหล่านี้ไม่ใช่ทางออกที่ดี และทางการสหรัฐควรออกกฎหมายฉบับใหม่เพื่อฟื้นฟูกิจการสถาบันการเงินอย่างถูกทาง
"เราควรจะขจัดมุมมองของคำว่า 'สถาบันการเงินที่มีขนาดใหญ่เกินกว่าจะปล่อยให้ล้ม' ออกไป เพราะการคิดเช่นนี้จะก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย การจะบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและมีเสถียรภาพไม่ได้อยู่ที่การนำเงินราษฎรไปอุ้มสถาบันการเงินเพียงอย่างเดียว แต่ควรสร้างนวัตกรรมใหม่และการปฏิรูประบบการเงินให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันมากกว่า" เบอร์นันเก้กล่าว
ทั้งนี้ เบอร์นันเก้สามารถพาเศรษฐกิจสหรัฐก้าวผ่านภาวะถดถอยรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1930 ด้วยการใช้มาตรการอัดฉีดสภาพคล่องมูลค่าหลายล้านดอลลาร์เข้าสู่ระบบการเงินที่ตึงตัวอย่างหนัก และการดำเนินการครั้งล่าสุดมีขึ้นในที่ประชุมประจำปีของเฟดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเบอร์นันเก้ยืนยันว่า เฟดพร้อมที่จะเข้าซื้อตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยรองรับ (MBS) และพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มขึ้นอีก หากเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ หรือหากเฟดพบว่าสหรัฐกำลังเผชิญกับภาวะเงินฝืด
เบอร์นันเก้ยืนยันในที่ประชุมประจำปีของเฟดซึ่งจัดขึ้นที่แจ๊คสัน โฮล รัฐไวโอมิ่ง เมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า คณะกรรมการเฟดพร้อมที่จะใช้นโยบายผ่อนปรนด้านการเงินเพิ่มเติม รวมถึงการใช้มาตรการพิเศษ (unconventional measures) เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนในตลาดสินเชื่อ หากคณะกรรมการเฟดพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเป็น ซึ่งมาตรการพิเศษของเฟดอาจครอบคลุมถึงการเปิดโครงการซื้อพันธบัตรและตราสารหนี้ MBS ในปริมาณมาก