บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า โครงการลงทุนในอุตสาหกรรมพื้นฐาน เช่น ปิโตรเคมี, เหล็ก และพลังงาน ในช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างหยุดชะงัก เพราะไม่เพียงแต่โครงการลงทุนในพื้นที่มาบตาพุดที่ถูกระงับโดยคำสั่งศาลปกครองเท่านั้น แต่โครงการลงทุนใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมเหล่านี้ก็ชะลอแผนการลงทุนไปด้วยในระหว่างที่รอความชัดเจนของหลักเกณฑ์และกลไกที่จะทำหน้าที่ให้อนุญาตโครงการลงทุนที่เข้าข่ายโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ
ดังนั้น คำพิพากษาของศาลปกครองกลางที่ออกมาเมื่อวานนี้(2 ก.ย.) ประกอบกับหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่รัฐบาลได้กำหนดขึ้นเพื่อให้สอดคล้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนั้น น่าจะช่วยสร้างความชัดเจนให้แก่นักลงทุนถึงแนวปฏิบัติที่ถูกต้องเพื่อให้โครงการลงทุนในพื้นที่มาบตาพุดที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งระงับไว้ ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนนับแสนล้านบาทนั้นมีทางออกในการเดินหน้าต่อไปได้
"การคลี่คลายปัญหาการลงทุนในมาบตาพุดที่เริ่มมีความชัดเจนขึ้น ทั้งจากหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่รัฐบาลได้กำหนดขึ้นเพื่อให้สอดคล้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ รวมทั้งคำพิพากษาของศาลปกครองกลางที่ให้เพิกถอนใบอนุญาตการดำเนินโครงการที่มีการกำหนดให้เป็นประเภทกิจการที่ส่งผลกระทบรุนแรง แต่ยกคำร้องสำหรับโครงการที่ไม่ได้อยู่ในประเภทกิจการรุนแรงนั้น น่าจะเป็นสัญญาณที่ดีต่อทิศทางการลงทุนในระยะข้างหน้า โดยโครงการที่ศาลยกคำร้องจะสามารถกลับมาก่อสร้างและดำเนินการได้ หลังจากที่หยุดชะงักไปในระยะ 1 ปี ที่ผ่านมา" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เชื่อว่า หากปัญหาความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับข้อกฎหมายและแนวปฏิบัติในการลงทุนประเภทกิจการรุนแรงคลี่คลายลงอย่างสมบูรณ์ โครงการลงทุนในมาบตาพุดน่าจะเริ่มเดินหน้าได้และน่าจะมีการลงทุนชัดเจนมากขึ้นในปี 54 และจะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศในสภาวะที่การส่งออกอาจมีทิศทางชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก
นอกจากการคลี่คลายอุปสรรคในการดำเนินโครงการลงทุนในมาบตาพุดแล้ว ปัจจัยอื่นๆ ที่จะสนับสนุนแนวโน้มการลงทุนในระยะข้างหน้า ได้แก่ 1.การลงทุนขยายกำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมหลักของประเทศ เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป พลังงานทดแทน อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้มีการประกาศแผนการลงทุนมาแล้วในช่วงที่ผ่านมา
2.การลงทุนของภาครัฐ น่าจะมีความคืบหน้าของโครงการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ในด้านโลจิสติกส์มากขึ้น เช่น โครงการรถไฟฟ้าที่เริ่มต้นก่อสร้างสายสีแดงและสายสีม่วงไปแล้ว ส่วนสายสีน้ำเงินกำลังจะเริ่มก่อสร้างหลังจากการลงนามในสัญญาว่าจ้างบริษัทที่ชนะการประมูลทั้ง 5 สัญญาประมาณเดือนต.ค.นี้ นอกจากนี้ในปี 54 อาจมีการเริ่มดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งสองสาย รถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต รถไฟทางคู่เส้นทางใหม่ การปรับปรุงทางรถไฟ โครงการรถโมโนเรลของกรุงเทพมหานคร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟสสอง และระบบคมนาคมขนส่งที่เชื่อมโยงภายในภูมิภาค เป็นต้น
3.โครงการอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชน โดยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐหลายโครงการจะมีผลกระตุ้นให้เกิดการลงทุนพัฒนาโครงการของภาคเอกชนตามมา จากศักยภาพของทำเลใหม่ๆ นอกจากนี้ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายในภูมิภาคทั้งในส่วนของกรอบความตกลงการค้าเสรี(FTA) และกรอบความร่วมมืออื่นๆ จะส่งผลให้เกิดการลงทุนในธุรกิจที่จะสนับสนุนหรือรองรับการเคลื่อนย้ายของกิจกรรมเศรษฐกิจระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค รวมทั้งธุรกิจที่เห็นโอกาสขยายตลาดไปยังท้องที่ต่างจังหวัดที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจสูงขึ้น
อย่างไรก็ดี ปัญหาโครงการลงทุนในมาบตาพุดนี้ถือเป็นบทเรียนที่จุดประกายให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมีแนวโน้มหันมาให้ความสำคัญกับแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมที่สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น ดังแนวคิดการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว หรือ Green Industry แนวคิดโครงการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และแนวคิดนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Estate) เป็นต้น ซึ่งการสร้างการยอมรับจากชุมชนจะเป็นกุญแจสำคัญยิ่งต่อความสำเร็จของการดำเนินโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมพื้นฐาน เช่น โรงถลุงเหล็ก ปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ โรงไฟฟ้า รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศหลายด้าน เช่น ท่าเรือน้ำลึก สนามบิน Southern Seaboard และแลนด์บริดจ์ เป็นต้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การปลดล็อคปัญหากรณีมาบตาพุดน่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนการเติบโตของกิจกรรมการลงทุนภายในประเทศในระยะข้างหน้า และเมื่อผนวกกับปัจจัยบวกอื่นๆ เช่น การขยายกำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ และการลงทุนของภาคเอกชนในธุรกิจที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐดังกล่าว ตลอดจนธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค ซึ่งปัจจัยเหล่านี้น่าจะเป็นแรงส่งให้การลงทุนของไทยเติบโตต่อไปได้อย่างต่อเนื่องในปีข้างหน้าจากที่เติบโตในระดับสูงในปีนี้
"คาดการณ์ว่า การลงทุนโดยรวมในปี 2553 อาจจะขยายตัวประมาณร้อยละ 8.1-8.8 และขยายตัวต่อเนื่องที่ประมาณร้อยละ 7.5-9.3 ในปี 2554" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
นอกจากนี้ การที่ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นอย่างมากในปีนี้จะทำให้ความต้องการลงทุนในต่างประเทศของเหล่าธุรกิจญี่ปุ่นมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งไทยควรใช้โอกาสนี้ในการเร่งทำกิจกรรมส่งเสริมการลงทุนในตลาดนักลงทุนญี่ปุ่น เพื่อสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตทดแทนการผลิตในญี่ปุ่นที่มีความได้เปรียบด้านค่าเงินลดลง
ขณะเดียวกันในส่วนของผู้ประกอบการไทย ควรใช้ประโยชน์จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และยูโรในการนำเข้าสินค้าทุน เช่น เครื่องจักรเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต รวมทั้งอาจพิจารณาออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น