ก.อุตฯ นัดผู้ประกอบการ 76 โครงการมาบตาพุดหารือสัปดาห์หน้า

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 3, 2010 13:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในวันที่ 6 กันยายนนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะนัดผู้ประกอบการทั้ง 76 โครงการ มาหารือและรับทราบคำพิพากษาของศาล พร้อมกับแนบรายละเอียดของประกาศ 11 ประเภทกิจการรุนแรง เพื่อให้กลับไปพิจารณาว่าโครงการของตนเอง เข้าข่ายอยู่ในประกาศประเภทกิจการรุนแรงหรือไม่

จากนั้นให้ภาคเอกชน ส่งหนังสือแจ้งกลับมายังหน่วยงานที่ออกใบอนุญาตประกอบกิจการ เพื่อยกเลิกคำสั่งระงับการลงทุนชั่วคราว และเดินหน้าโครงการลงทุนต่อไปได้

ทั้งนี้ หากโครงการใดที่ไม่อยู่ในข่ายประเภทกิจการรุนแรง คาดว่าจะสามารถเพิกถอนคำสั่งระงับโครงการลงทุนได้ ภายใน 2 สัปดาห์ ส่วนโครงการที่อยู่ในข่าย 11 ประเภทกิจการรุนแรง จะต้องเร่งดำเนินการตามมาตรา 67 วรรค 2 ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 4-6 เดือน จะจบกระบวนการทั้งหมดและสามารถดำเนินกิจการได้

นายพุทธิพงศ์ กล่าวด้วยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ยังเตรียมตรวจสอบย้อนหลังผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ และดำเนินการจัดทำ EIA ทั้งก่อนและหลังรัฐธรรมนูญ ปี 2550 บังคับใช้ เพื่อกำกับดูแลปัญหามลภาวะของโรงงานอุตสาหกรรมและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่นิคมอุตสหากรรม

"จากคำพิพากษาของศาลที่ออกมานั้น ถือเป็นสัญญาณที่ดี ที่จะทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจต่อการลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่ ต้องการความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายและขั้นตอนการลงทุนในไทย โดยขณะนี้ มีนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่น สอบถามถึงคำพิพากษาของศาลเป็นอย่างมาก แต่เมื่อชี้แจงไปแล้ว ก็มีความมั่นใจมากขึ้น ซึ่งในกลางเดือนกันยายนนี้ จะเดินทางไปโรดโชว์ที่ญี่ปุ่น" นายพุทธิพงษ์ กล่าว

ส่วนกรณีที่เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก เตรียมที่จะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดนั้น หากมีความเห็นต่าง ก็ถือเป็นสิทธิ์ที่จะยื่นอุทธรณ์ได้ ภายใน 30 วัน ซึ่งจากคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ถือว่ายังไม่สิ้นสุดกระบวนการศาล จึงต้องรอคำตัดสินจากศาลปกครองสูงสุด แต่ระหว่างนี้ หากโครงการใดไม่อยู่ในข่ายก็ดำเนินการตามมาตรา 67 วรรค 2 ได้ทันที

ด้านนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หน่วยงานออกใบอนุญาตประกอบกิจการ ทั้งกรมโรงงานอุตสาหกรรม และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จะต้องกลับไปพิจารณารายละเอียดของคำสั่งศาลว่า มีโครงการใดที่ไม่อยู่ในประกาศ 11 ประเภทกิจการที่มีผลกระทบรุนแรงต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม

แต่เบื้องต้นจากคำพิพากษาของศาล มี 2 โครงการ ที่อยู่ในข่าย 11 ประเภทกิจการรุนแรง ได้แก่ โครงการโรงงานผลิตเอทิลีนออกไซด์ และเอทิลีนไกลคอล ของบริษัท TOC ไกลคอล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ปตท.เคมิคอล (PTTCH) และโครงการขยายกำลังการผลิตไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์ ของบมจ. ไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ (TPC) ที่จะต้องไปดำเนินการตามมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ในการจัดทำ EIA และรายงานผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) รวมทั้งการรับฟังความเห็นจากประชาชน

ในส่วนของรัฐบาล จะผลักดันการดำเนินงานตามมาตรการเติมเต็ม ของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย รวมถึงการจัดทำผังเมือง และแนวเขตป้องกันมลพิษ ( Buffer Zone) ระหว่างชุมชนกับโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งคาดว่าจะสรุปได้ภายใน 2 สัปดาห์ ก่อนเสนอของบประมาณดำเนินการต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ