Xinhua's Interview: ผู้เชี่ยวชาญย้ำวัตถุดิบ-การผลิตที่ยั่งยืนช่วยหนุนพลังงานชีวภาพแซงหน้าพลังงานจากฟอสซิล

ข่าวต่างประเทศ Friday September 3, 2010 14:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แม้ว่าเชื้อเพลิงชีวภาพ (biofuel) จะเป็นพลังงานทางเลือกที่มีประสิทธิภาพที่อาจจะเข้ามาแทนที่พลังงานจากฟอสซิล แต่ผู้เชี่ยวชาญมองว่า การรับประกันว่ากระบวนการผลิตพลังงานใหม่นี้จะเป็นไปอย่างยั่งยืน และมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ลดลงถือเป็นเรื่องที่สำคัญ

นายอดอลโฟ ดาลลา เปรีย ผู้เชียวชาญด้านการอนุรักษ์ธุรกิจการเกษตรจากเนเจอร์ คอนเซอร์แวนซี ซึ่งเป็นองค์กรภาคเอกชนในบราซิล ให้สัมภาษณ์กับนาตาเลีย คอสต้า ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวซินหัวว่า "ผมคิดว่าประเด็นที่น่าจับตามองก็คือความต่อเนื่องในการผลิต ซึ่งหมายถึงวัตถุดิบที่จะใช้ป้อนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมพลังงานชีวภาพอย่างยั่งยืน"

นายริคาร์โด ดอร์เนลเลส ผู้อำนวยการ สำนักเลขาธิการปิโตรเลียม, แก็สธรรมชาติ และพลังงานหมุนเวียน สังกัดกระทรวงเหมืองแร่และพลังงานของบราซิล ซึ่งสนับสนุนแนวความคิดของนายอดอลโฟ ดาลลา เปรีย กล่าวว่า "พลังงานชีวภาพมีข้อดีหลายอย่าง แต่ทุกๆสิ่งที่มีข้อดีมากๆ ก็มักจะทำให้เราวิตกกังวลได้เหมือนกัน พลังงานชีวภาพเองไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาสำหรับทุกปัญหา แต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา ซึ่งเกี่ยวข้องกับองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และต้องคำนึงถึงเรื่องความยั่งยืน"

สิ่งที่อดอลโฟ ดาลลา เปรีย ย้ำว่าน่าเป็นห่วงก็คือ การเพาะปลูกวัตถุดิบสำหรับการผลิตพลังงานชีวภาพ เช่น ถั่วเหลือง และ อ้อย ซึ่งต้องใช้ที่ดินจำนวนมหาศาล ซึ่งเขากลัวว่า การขยายพื้นที่เพาะปลูกถั่วเหลืองและอ้อย จะเบียดเบียนพื้นที่สำหรับการปศุสัตว์และรวมไปถึงพื้นที่ป่า ซึ่งทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อการเกษตรกรรมและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์

"การเพาะปลูกถั่วเหลืองและอ้อยกำลังขยายตัวเพิ่มขึ้น หากมีการนำพื้นที่เพาะเลี้ยงปศุสัตว์มาใช้เพื่อการเพาะปลูกถั่วเหลืองและอ้อย ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเกิดขึ้นในวงจำกัด แต่ถ้ามีการขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชทั้ง 2 ชนิดไปยังพื้นที่ที่เป็นผืนป่าแล้ว จะเกิดผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมาก การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ก็จะสูงตามไปด้วย เนื่องจากพื้นที่ผืนป่าที่ลดลง" นายอดอลโฟ ดาลลา เปรีย กล่าว

ด้านนายดอร์เนลเลส กล่าวเสริมว่า หากมีการเพิ่มประสิทธิภาพในการเลี้ยงปศุสัตว์ ก็อาจเป็นไปได้ที่จะมีการนำพื้นที่เลี้ยงสัตว์มาใช้ในการเพาะปลูกวัตถุดิบสำหรับผลิตพลังงานชีวภาพ ซึ่งในปัจจุบัน บราซิลมีพื้นที่เลี้ยงสัตว์ 170 ล้านเฮกตาร์ คิดเป็นสัดส่วน 1 เฮกตาร์ต่อปศุสัตว์ 1 ตัว และมีพื้นที่สำหรับเกษตรกรรม 62 ล้านเฮกตาร์ ซึ่งหากมีการเพิ่มปริมาณการเลี้ยงปศุสัตว์อีก 10% อาจทำให้ต้องใช้พื้นที่เพิ่มขึ้นถึง 17 ล้านเฮกตาร์

นายดอร์เนลเลส เชื่อว่า การเพิ่มการผลิตปศุสัตว์นั้นสามารถทำได้ด้วยการใช้วิธีการที่เหมาะสมมากกว่า เช่น การทำคอกให้อาหารสัตว์

อย่างไรก็ตาม นายดาลลา เปรีย กล่าวว่า การเลือกใช้พื้นที่ให้เหมาะสมสำหรับการเพาะปลูกวัตถุดิบเพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ แต่ต้องคำถึงถึงการบริหารฟาร์มที่เป็นเลิศ (Good Farming Practice หรือ GFP) อีกด้วย

"ยกตัวอย่างเช่น การทำไร่อ้อยโดยใชัเครื่องจักรเข้ามาช่วยในการเก็บเกี่ยวกำลังได้รับความสนใจจากเกษตกรมากกว่าการทำไร่แบบดั้งเดิม ซึ่งชาวไร่จะเผาซังอ้อยภายหลังการตัดด้วยมือ การที่เกษตรกรไม่เผาซังอ้อยจะเป็นวิธีที่ช่วยให้การเพาะปลูกอ้อยเป็นไปอย่างยั่งยืนกว่า" นายดาลลา เปรีย กล่าว

ในส่วนของการเพาะปลูกถั่วเหลืองนั้น นายดาลลา เปรีย แนะนำว่า เกษตรกรควรปลูกโดยไม่ไถกลบ และควรลดการใช้สารเคมีกำจัดแมลงให้มากที่สุดที่เป็นไปได้

อีกประเด็นหนึ่งที่นายดาลลา เปรีย หยิบยกขึ้นมากล่าวก็คือการปฎิบัติตามกฏในการรักษาป่า (Forest Code) อย่างเคร่งครัด โดยกฎหมายของบราซิลกำหนดให้ครัวเรือนในเขตชนบทจะต้องอนุรักษ์พืชผักพื้นเมืองตามเปอร์เซนต์ที่ได้มีการกำหนดไว้ รวมทั้งต้องมีแนวอนุรักษ์ป่าด้วยเช่นกัน

ส่วนนายดอลลาเนส กล่าวว่า บราซิลมีพื้นที่ปลูกอ้อย 8 ล้านเฮกตาร์ โดย 85% ของพื้นที่เพาะปลูกอยู่ในภาคกลางและภาคตะวันตกของประเทศ และพื้นที่เพาะปลูกอีก 15% ที่เหลืออยู่ตามแนวชายฝั่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

กระทรวงเหมืองแร่และพลังงานของบราซิล รายงานว่า เอทานอลที่ผลิตจากอ้อยได้กลายเป็นแหล่งพลังงานดันดับ 2 ของบราซิล โดยมีสัดส่วนการใช้พลังงานเอทานอลในยานพาหนะเพิ่มขึ้น 21.9% ในปี 2550 ในขณะที่ปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินอยู่ที่ 23.3% ในปีเดียวกัน

"อ้อยเป็นพืชที่ให้ปริมาณผลผลิตพลังงานสูง โดยพลังงานจากฟอสซิล 1 หน่วยที่ใช้ในกระบวนการผลิตสามารถผลิตเอทานอลจากอ้อยได้ถึง 9 หน่วย ในขณะที่ข้าวโพดหรือธัญพืชสามารถผลิตเอทานอลได้ไม่ถึง 2 หน่วย" นายริคาร์โด ดอร์เนลเลส กล่าว

ในขณะเดียวกัน นายอดอลโฟ ดาลลา เปรีย กล่าวว่า ผู้ผลิตและสถาบันต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการผลิตพลังงานชีวภาพใส่ใจในเรื่องข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งมากจากการขยายตัวของตลาดต่างประเทศ

"ทุกคนต่างก็มุ่งที่จะเพิ่มยอดขายซึ่งไม่เฉพาะแต่ในบราซิล ซึ่งเป็นตลาดที่มีความต้องการพลังงานชีวภาพเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่รวมไปถึงตลาดยุโรปและสหรัฐ ซึ่งมีข้อกำหนดที่เข้มงวด โดยเริ่มจากตัวผลิตภัณฑ์ที่ต้องสอดคล้องตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อมในแต่ละประเทศ" นายอดอลโฟ ดาลลา เปรีย กล่าวทิ้งท้าย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ