เอกชนคาดเดินเครื่องลงทุนมาบตาพุดได้ใน 2 สัปดาห์หลังศาลปลดล็อคโครงการ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 6, 2010 11:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวก่อนการประชุมร่วมกับ 76 โครงการลงทุนในมาบตาพุด และหน่วยงานภาครัฐ เพื่อซักซ้อมความเข้าใจ หลังศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาคดีมาบตาพุดว่า ขณะนี้โครงการลงทุนมาบตาพุดทั้ง 76 โครงการ ได้รับการปลดล็อคการลงทุนจากศาลปกครองแล้ว ซึ่งการประชุมที่ศูนย์ประสานการการบริการด้านการลงทุน(OSOS) ในวันนี้ เป็นการชี้แจงคำสั่งศาล รวมถึงกระบวนการที่จะนำไปสู่การได้รับการอนุญาตให้เดินหน้าต่อได้ จากที่ก่อนหน้านี้ หน่วยงานอนุญาตได้มีหนังสือให้ระงับการดำเนินโครงการตามคำสั่งศาลปกครองกลาง จ.ระยอง

ประธาน ส.อ.ท. ระบุว่า โครงการลงทุนมาบตาพุดทั้ง 76 โครงการ มีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 200,000 ล้านบาท ซึ่งในวันนี้มีกว่า 50 โครงการที่ยังต้องได้รับการพิจารณาจากหน่วยงานที่ออกใบอนุญาตว่าอยู่ในประกาศ 11 ประเภทกิจการที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อชุมชน ทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ และต้องดำเนินการตามมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยคาดว่าโครงการเหล่านี้บางส่วนจะสามารถเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ เพราะมีการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) และผลกระทบด้านสุขภาพ(HIA) มาบ้างแล้ว

ส่วนโครงการอยู่ที่นอกเหนือจากนี้ และอยู่ในข่ายตามประกาศ 11 ประเภทกิจการรุนแรงจะต้องถูกเพิกถอนใบอนุญาต และเริ่มต้นกระบวนการใหม่ทั้งหมด ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 2 ส่วนโครงการที่ได้รับใบอนุญาตก่อนรัฐธรรมนูญปี 2550 มีผลบังคับใช้ สามารถเดินหน้าโครงการได้ทันที ทั้งนี้มีบางโครงการที่ไม่จำเป็นต้องทำ HIA เพิ่มเติม แต่สมัครใจดำเนินการต่อเพื่อต้องการดูแลชุมชนและสิ่งแวดล้อม

สำหรับกรณีที่เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก เตรียมเคลื่อนไหวคัดค้าน 11 ประเภทกิจการรุนแรง โดยให้รัฐบาลทบทวนประกาศใหม่นั้น นายพยุงศักดิ์ กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมน้อมรับคำสั่งศาลและปฎิบัติตามคำสั่งมาโดยตลอด การที่ภาคประชาชนเคลื่อนไหวสามารถทำได้ แต่ต้องการให้เข้ามาร่วมทำงานตรวจสอบดูแลด้านสิ่งแวดล้อม และช่วยกันเดินหน้าแผนขจัดมลพิษที่ดำเนินการมาแล้วให้เดินหน้าต่อไป

สำหรับความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อประเทศไทยในฐานะประเทศที่น่าลงทุนนั้น หลังจากมีคำสั่งศาลปกครองกลางแล้ว เชื่อว่าทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจมากขึ้น เพราะไทยมีแนวทางดำเนินการชัดเจน และไม่มีความเสี่ยงว่าโครงการจะหยุดดำเนินการถ้าได้ทำตามกฎหมายอย่างครบถ้วน

ประธาน ส.อ.ท. เชื่อว่าจากนี้ไปโครงการลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของนักลงทุนญี่ปุ่นในไทยจะทยอยเข้ามา โดยจะเริ่มต้นก่อสร้างและแล้วเสร็จในอีก 2-3 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะนักลงทุนที่เข้าใจประเทศไทยและมีฐานการลงทุนหนาแน่นอยู่แล้วคงไม่วิตกเมื่อมีหลักปฎิบัติที่ชัดเจนแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ