นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนนตรี(ครม.) มีมติรับทราบการดำเนินการของรัฐบาลหลังจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของจีนเสนอให้สินเชื่อจำนวน 400 ล้านดอลลาร์ จากเพื่อใช้ในโครงการพัฒนาระบบขนส่งทางรางของไทย
สินเชื่อดังกล่าวจะนำมาใช้สนับสนุนใน 3 โครงการ คือ 1.โครงการจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้าพร้อมอะไหล่เพื่อทดแทนรถจักร GE ที่มีอายุใช้งานมากกว่า 45 ปีจำนวน 50 คัน มูลค่าโครงการ 195 ล้านดอลลาร์ หรือ คิดเป็น 6,562.25 ล้านบาท 2.โครงการปรับปรุงระบบรางสายประธานช่วงพิษณุโลก-เชียงใหม่ มูลค่าโครงการ 132 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 4,428 ล้านบาท และ 3.โครงการปรับปรุงระบบรางสายประธาน ช่วงทุ่งสง-ชุมทางหาดใหญ่ มูลค่าโครงการ 80 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 2,680.8 ล้านบาท
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังมีข้อสังเกตว่า กระทรวงการคลังและธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศจีนได้หารือแนวทาง การแก้ไขร่างความตกลงทั่วไปและได้ประสานงานมาโดยตลอด แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ ซึ่งหากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศจีนสามารถผ่อนปรนเงื่อนไขในประเด็นต่างๆ ที่กระทรวงการคลังได้เสนอไป ก็จะสามารถเร่งรัดสรุปการหารือเรื่องกรอบความตกลงทั่วไปได้
ส่วนข้อกำหนดในการซื้อสินค้าจากสาธารณรัฐประชาชนจีนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการกระตุ้นการจ้างงานและการลงทุนภายในประเทศภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน และ ก่อนการลงนามในกรอบความตกลงทั่วไป กระทรวงการคลังจะต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 โดยได้รับความเห็นชอบให้ลงนามในความตกลงจากรัฐสภา
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรียังเห็นชอบในร่างกรอบการเจรจาความร่วมมือด้านการพัฒนากิจการรถไฟระหว่างไทย-จีน ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ เพื่อจะได้นำเสนอให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป
"เพื่อให้รัฐบาลมีกรอบการเจรจาในการก่อสร้างความร่วมมือด้านการพัฒนากิจการรถไฟระหว่างไทย-จีน ซึ่งนำไปสู่ความตกลงเกี่ยวกับความร่วมมือกัน 2 ประเทศต่อไป" รองโฆษกฯ กล่าว
สำหรับความร่วมมือด้านกิจการรถไฟดังกล่าวประกอบด้วย 3 เส้นทาง คือ 1.หนองคาย-กรุงเทพฯ, 2.กรุงเทพฯ-ระยอง และ 3.กรุงเทพฯ-ชายแดนภาคใต้