รมว.คมนาคม เพิ่มกรอบเจรจาเส้นทางรถไฟไทย-จีน เป็น 5 เส้นทางจากเดิม 3

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 7, 2010 18:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบร่างกรอบการเจรจาความร่วมมือด้านการพัฒนากิจการรถไฟระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีวัตถุประสงค์ของการเจรจา เพื่อให้มีกรอบการเจรจาในการสร้างความร่วมมือด้านการพัฒนากิจการรถไฟระหว่างไทย-จีน ซึ่งอาจนำไปสู่การกำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับความร่วมมือต่อไป

สาระสำคัญของกรอบการเจรจา ประกอบด้วย 5 ด้าน คือ 1)เส้นทาง ได้แก่ 1.กรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะทาง 615 กม. 2.เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง ระยะทาง 221 กม. เริ่มต้นจากมักกะสัน-ฉะเชิงเทรา-ระยอง 3.เส้นทางกรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 982 กม. 4.เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และ 5.เส้นทางกรุงเทพฯ-อุบลราชธานี

2)การดำเนินการ เป็นความร่วมมือในการพัฒนาเพื่อก่อสร้างทาง การเดินรถไฟ และการบริหารจัดการกิจการรถไฟในเส้นทางที่ได้ตกลงไว้ หรือการดำเนินการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 3)การจัดหาพื้นที่ในการพัฒนา เป็นความร่วมมือในการจัดหาพื้นที่ในการก่อสร้างทาง การเดินรถและการบริหารจัดการกิจการรถไฟ หรือการดำเนินการอื่นๆที่เกี่ยวข้องในเส้นทางที่ได้ตกลงไว้

4)การใช้เทคโนโลยีและทรัพยากรร่วมกันในการพัฒนา เป็นความร่วมมือและการอำนวยความสะดวกในการใช้เทคโนโลยีและทรัพยากรของแต่ละประเทศร่วมกันอย่างเหมาะสม และ 5)การถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นความร่วมมือในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ ตลอดจนการพัฒนากิจการรถไฟระหว่างไทยกับจีน

"เป้าหมายการเจรจา เพื่อให้ได้ข้อตกลงในการร่วมมือพัฒนากิจการรถไฟระหว่างไทย-จีน ที่เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งต้องไม่กระทบต่อแผนปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานระยะเร่งด่วน มูลค่า 1.7 แสนล้านบาท ระยะ 5 ปีของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ตลอดจนต้องมีการรับฟังความคิดเห็นประชาชนด้วย"นายโสภณ กล่าว

ส่วนกรณีที่กรอบการเจรจา กำหนดเส้นทางรถไฟความเร็วสูงใน 5 เส้นทาง จากเดิมที่มี 3 เส้นทางนั้น เป็นการกำหนดกรอบสำหรับการเจรจาเท่านั้น ส่วนการดำเนินการจะตกลงสร้างเส้นทางใดก็ขึ้นอยู่กับข้อตกลงที่จะมีร่วมกันต่อไป

สำหรับรูปแบบการร่วมทุนนั้น กระทรวงการคลังให้ความเห็นว่า รัฐบาลไทยควรจะต้องเข้าร่วมทุน เพื่อให้เห็นถึงการร่วมมือกันระหว่างไทยกับจีน ในการพัฒนากิจการรถไฟระหว่างประเทศ และการร่วมทุนนั้นควรใช้สิทธิประโยชน์ในการใช้ที่ดินเป็นหลัก โดยหลีกเลี่ยงการลงเงินร่วมทุน เพื่อไม่เป็นภาระต่องบประมาณ ดังนั้นจะต้องพยายามประเมินและเจรจามูลค่าสิทธิประโยชน์ในการใช้ที่ดินให้ได้มูลค่าที่สูงที่สุด

นายโสภณ ยังกล่าวอีกว่า ที่ประชุมครม.ได้พิจารณาแนวทางและนโยบายการดำเนินการของรัฐบาลในเรื่องการขอใช้สินเชื่อเพื่อการส่งออกจำนวน 400 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจีนเสนอให้ใช้ในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โดยจะไม่มีการดำเนินการใช้สินเชื่อในส่วนนี้ เพราะติดปัญหาเรื่องเงื่อนไขที่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ ไม่ว่าจะเป็นข้อกำหนดที่ให้ผู้กู้ต้องใช้เงินกู้ซื้อสินค้าจากจีนไม่น้อยกว่า 50% การพิจารณาด้านข้อกฎหมายต้องใช้กฎหมายจีน และกำหนดให้สถาบันอนุญาตโตตุลาการของจีนเป็นผู้วินิจฉัยข้อพิพาท ขณะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงประมาณ 5%

“กระทรวงคมนาคมไม่รับข้อเสนอการกู้เงินดังกล่าว เพราะมีปัญหาเรื่องเงื่อนไขที่เกี่ยวข้อง และเห็นว่าปัจจุบันประเทศไทยและจีนกำลังจะมีความร่วมมือในโครงการขนาดใหญ่เกี่ยวกับการพัฒนากิจการรถไฟร่วมกันแล้ว จึงน่าจะดำเนินการตามความร่วมมือดังกล่าวแทน" นายโสภณ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ