องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ได้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกส่งเสริมการขยายโอกาสทางการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาการว่างงานและเป็นหลักประกันการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
นายแองเจล กูร์เรีย เลขาธิการ OECD กล่าวในระหว่างการรายงานประจำปีขององค์กรในเรื่องการศึกษาว่า "เศรษฐกิจของโลกจะฟื้นตัวขึ้นได้ไม่ใช่เพราะมาตรฐานระดับชาติเพียงอย่างเดียว แต่ระบบการศึกษาที่ดีที่สุดจะช่วยให้ประเทศชาติประสบความสำเร็จด้วย"
โดยนายกูร์เรีย ได้แสดงความคิดเห็นว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยได้ทำให้ระดับการจ้างงานลดลง โดยเขาระบุว่าการศึกษาเป็นการลงทุนที่จำเป็นสำหรับการความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและประชากรศาสตร์ที่ทำให้ตลาดแรงงานเปลี่ยนไป
"การศึกษาที่ดีทำให้มีโอกาสได้งานทำสูง โดยในประเทศที่ประสบกับภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ คนที่มีระดับการศึกษาต่ำกว่าจะมีความลำบากในการหางานทำหรือการรักษาสภาพการเป็นลูกจ้างได้น้อยกว่าคนที่มีการศึกษาที่ดี" นายกูร์เรียกล่าว
ทั้งนี้ ข้อมูลเบื้องต้นระบุว่า ประเทศสมาชิก OECD ทั้ง 32 ประเทศ มีอัตราการว่างงานของประชากรที่จบการศึกษาสูงกว่าระดับมัธยมในอัตราที่ต่ำกว่า 4% ในขณะที่จำนวนคนว่างงานที่มีการศึกษาระดับมัธยมลงมามีอัตราสูงกว่า 9% อย่างต่อเนื่อง
ในขณะเดียวกัน รายงานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ในประเทศสมาชิก OECD ผู้ที่จบการศึกษาสูงกว่าระดับมัธยมจ่ายภาษีตลอดชีวิตการทำงานเฉลี่ย 119,000 ดอลลาร์ สูงกว่าคนที่จบการศึกษาในระดับมัธยมลงมา
ส่วนรายงานขององค์กรฯ ระบุว่า "ในแง่ของค่าใช้จ่ายของรัฐต่อผู้ที่มีการศึกษาในระดับปริญญาตรี รายได้จากภาษีและการช่วยเหลือสังคมที่สูงกว่าจากผู้ที่มีการศึกษาในระดับปริญญาตรีก็ถือเป็นการลงทุนในระยาวที่ดี"
ทั้งนี้ OECD ได้แสดงความคิดว่า ในการพิจารณาความความแตกต่างระหว่างประเทศสมาชิกต่อการลงทุนด้านการศึกษาระดับตติยภูมิ พบว่า มากกว่า 60% ในประเทศอังกฤษ สหรัฐ และสมาชิกบางประเทศ เป็นการให้ทุนการศึกษาโดยภาคเอกชน ในขณะที่ เบลเยี่ยม และ เดนมาร์ก และอีกหลายประเทศ มีอัตราส่วนต่ำกว่า 10% สำนักข่าวซินหัวรายงาน