In Focusจับตาเศรษฐกิจจีน-ญี่ปุ่น...เมื่อมังกรผงาดและอาทิตย์อัสดง

ข่าวต่างประเทศ Wednesday September 8, 2010 13:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 บรรดานักวิเคราะห์เศรษฐกิจทั่วโลกต่างตบเท้าออกมาทำนายทายทักว่า ภายในสิ้นปี 2553 พญามังกรแห่งเอเชียอย่าง “จีน" จะแซงหน้าขึ้นมาเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลกแทนที่ “ญี่ปุ่น" แดนอาทิตย์อุทัย และไม่ต้องรอให้ถึงสิ้นปีจีนก็สามารถทำได้สำเร็จตามความคาดหมาย เมื่อมูลค่าทางเศรษฐกิจของจีนสูงถึง 1.335 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในไตรมาส 2 ปี 2553 เทียบกับญี่ปุ่นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจเพียง 1.286 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2511 ญี่ปุ่นแซงหน้าเยอรมนีตะวันตกขึ้นมาเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา และครองตำแหน่งดังกล่าวมาตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา และนับตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นก็ก้าวขึ้นเป็นประเทศมหาอำนาจด้านอุตสาหกรรมและการเงินระดับโลก แต่เศรษฐกิจญี่ปุ่นก็ต้องถูกกระทบอย่างหนักจากภาวะฟองสบู่ด้านอสังหาริมทรัพย์ในช่วงปลายทศวรรษ 2520 ต่อเนื่องมาถึงช่วงต้นทศวรรษ 2530 จนมาถึงวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียเมื่อช่วงต้นทศวรรษ 2540 และล่าสุดกับวิกฤตการเงินโลกเมื่อปี 2551

ปัจจุบัน แม้เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะหลุดพ้นจากภาวะถดถอยแล้ว แต่การฟื้นตัวยังซบเซา ในทางตรงกันข้าม เศรษฐกิจจีนกลับขยายตัวอย่างแข็งแกร่งจนสามารถเป็นเสาหลักที่ช่วยค้ำจุนเศรษฐกิจญี่ปุ่นและเศรษฐกิจโลกให้ฟื้นตัวขึ้นจากภาวะถดถอย และจีนก็สามารถแซงหน้าญี่ปุ่นในฐานะประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลกได้ในที่สุด

บริษัทจีนติดอันดับ "Best Under a Billion" สูงสุดในปีนี้ บริษัทญี่ปุ่นติดแค่ 2 แห่ง

หลักฐานล่าสุดที่ตอกย้ำถึงความร่วงโรยของญี่ปุ่นและความรุ่งโรจน์ของจีนคือ การที่นิตยสารฟอร์บส์เปิดเผยรายชื่อบริษัทที่ติดอันดับ "Best Under a Billion" หรือ 200 บริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางที่มียอดขายต่ำกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ยอดเยี่ยมของเอเชียประจำปี 2553 โดยบริษัทของจีนและฮ่องกงติดอันดับ 71 แห่งในปีนี้ ซึ่งมากที่สุดเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน แม้ว่าจะลดลงจาก 78 แห่งในปี 2552 ก็ตาม อันเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลจีนได้อัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งดำเนินนโยบายลดภาษี กระตุ้นการใช้จ่ายผู้บริโภค และผ่อนปรนนโยบายทางการเงินเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนมากขึ้น ตรงกันข้ามกับบริษัทของญี่ปุ่นที่ติดอันดับเพียง 2 แห่งเท่านั้นคือ บริษัท อาซาฮี ซึ่งเป็นผู้ผลิตจักรยาน และบริษัท เอ็นพีซี อิงค์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ จากที่ติดอันดับถึง 24 แห่งในปี 2552 เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศซบเซา และที่น่าตกใจไปกว่านั้นคือ บริษัทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง มาเลเซีย ไทย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ยังติดอันดับมากกว่าบริษัทของญี่ปุ่นด้วยซ้ำ

ขณะเดียวกันผลการจัดอันดับ 500 บริษัทที่ทำรายได้สูงสุดของจีนประจำปี 2552 ซึ่งได้รับการเปิดเผยโดยสภาหอการค้าแห่งประเทศจีนยังระบุว่า มีบริษัทจีนถึง 63 แห่งที่มีรายได้เกิน 1 แสนล้านหยวน (1.47 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) และมี 3 บริษัทที่มีรายได้ทะลุ 1 ล้านล้านหยวน ได้แก่ ซิโนเปค คอร์ป, สเตท กริด และ ปิโตรไชน่า นอกจากนั้นกำไรสุทธิของ 500 บริษัทที่ทำรายได้สูงสุดของจีนยังขยายตัวกว่า 20% ในปี 2552 มากกว่า 500 บริษัทที่ทำรายได้สูงสุดของโลกซึ่งมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเพียง 17% ซึ่งนับเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันแล้วที่บริษัทจีนทำผลงานได้โดดเด่นกว่าบริษัทต่างชาติ

แม้ว่าจะทำผลงานได้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่บริษัทจีนก็ยังไม่หยุดอยู่แค่นี้ โดยบริษัทจีนได้พยายามแก้ไขข้อด้อยเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรม ซึ่งนักวิเคราะห์กล่าวว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้บริษัทชั้นนำของจีนยังด้อยกว่าบริษัทชั้นนำของโลก โดยสภาหอการค้าแห่งประเทศจีนเปิดเผยว่า บริษัทในจีนได้มีการจดสิทธิบัตรนวัตกรรมต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย 500 บริษัทที่ทำรายได้สูงสุดของจีนเป็นเจ้าของสิทธิบัตร 169,000 ฉบับในปี 2553 เพิ่มขึ้น 13.3% จากปีที่แล้ว ซึ่ง 41 บริษัทจากทั้งหมดมีสิทธิบัตรเกิน 1,000 ฉบับ ขณะที่ 36 บริษัทมีสิทธิบัตรเกิน 200 ฉบับ ขณะเดียวกันองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) เปิดเผยว่า จีนมีการยื่นจดสิทธิบัตรระหว่างประเทศ 7,946 ฉบับในปี 2552 เพิ่มขึ้น 29.7% จากปี 2551 ซึ่งถือว่ามากเป็นอันดับ 5 ของโลก

จีนจ่อขึ้นแท่นตลาดสินค้าหรูรายใหญ่สุดของโลกแทนญี่ปุ่นใน 5 ปี

นอกจากจะแซงหน้าญี่ปุ่นในฐานะประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลกแล้ว จีนยังอาจแย่งตำแหน่งตลาดสินค้าหรูแห่งใหญ่ที่สุดในโลกจากญี่ปุ่นด้วย โดยรายงานการพัฒนาเชิงพาณิชย์ของจีนประจำปี 2552-2553 ซึ่งจัดทำโดยสถาบันสังคมศาสตร์แห่งประเทศจีน และได้รับการเผยแพร่เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาระบุว่า ตลาดสินค้าหรูของจีนมีมูลค่าเพิ่มขึ้นแตะ 9.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2552 หรือคิดเป็นสัดส่วน 27.5% ของตลาดสินค้าหรูทั่วโลก แย่งตำแหน่งจากสหรัฐอเมริกาในฐานะตลาดสินค้าหรูแห่งใหญ่อันดับ 2 ของโลกไปครอง จะเป็นรองอยู่ก็แค่ญี่ปุ่นเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม จีนอาจสามารถแซงหน้าญี่ปุ่นขึ้นแท่นเป็นตลาดสินค้าหรูแห่งใหญ่ที่สุดของโลกได้ภายใน 5 ปี ด้วยมูลค่าตลาดราว 1.46 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากผู้บริโภคหลักของสินค้าหรูคือบรรดาเศรษฐี และจีนก็มีจำนวนเศรษฐีเพิ่มขึ้นมากมายในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา นอกจากนั้นเศรษฐีในจีนยังไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลกมากเท่าในญี่ปุ่น ที่สำคัญสภาพเศรษฐกิจและตลาดสินค้าหรูของจีนขยายตัวอย่างรวดเร็วเป็นที่น่าพอใจ ขณะที่ปัจจัยหนุนดังกล่าวในญี่ปุ่นเริ่มแผ่วลงแล้ว

จีนมีสิทธิแซงหน้าญี่ปุ่นขึ้นเป็นประเทศผู้บริโภครายใหญ่อันดับ 2 ของโลก

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นายหวัง ซวนฉิง รองผู้อำนวยการสำนักงานบริการด้านการเงิน ในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ของจีน คาดการณ์ว่า อัตราการอุปโภคบริโภคของจีนอาจมีมูลค่าสูงถึง 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2558 แซงหน้าญี่ปุ่นขึ้นเป็นผู้บริโภครายใหญ่อันดับ 2 ของโลก โดยการคาดการณ์ดังกล่าวพิจารณาจากอัตราการอุปโภคบริโภคของจีนที่ขยายตัว 11.6% ต่อปี นับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา ซึ่งการคาดการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกินจริงแต่อย่างใด เนื่องจากการอุปโภคบริโภคและเศรษฐกิจในประเทศจีนมีรากฐานที่แข็งแกร่งมาก โดยผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า นโยบายเศรษฐกิจที่สมดุลและเด็ดขาดของจีนจะป้องกันไม่ให้จีนเผชิญภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่อย่างที่ญี่ปุ่นเคยเผชิญเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้วอย่างแน่นอน

แม้จีนจะแซงหน้าญี่ปุ่นในฐานะประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก และมีศักยภาพพอที่จะแซงหน้าญี่ปุ่นในอีกหลายๆ ด้าน แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงและความไม่แน่นอนต่างๆ ที่อาจทำให้จีนต้องถอยกลับมาตามหลังญี่ปุ่นอีกครั้ง อย่างการเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์ซึ่งทำให้ผู้บริโภคซื้อบ้านได้ยากขึ้นทั้งที่มีที่พักอาศัยล้นตลาด รวมถึงภาวะฟองสบู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ โดย เฉิน ปิน หัวหน้าด้านความร่วมมือเชิงอุตสาหกรรมจากสำนักงานคณะกรรมาธิการด้านการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติของจีน (NDRC) กล่าวว่า การที่รัฐบาลท้องถิ่นในจีนสนับสนุนให้มีการผลิตรถมากเกินไปโดยไม่ควบคุม จะทำให้จำนวนรถมีมากเกินความต้องการภายในปี 2558 ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันกันอย่างดุเดือด กระทบต่อกำไรของบรรดาบริษัทผลิตรถยนต์ และอาจถึงขั้นกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างยั่งยืน

นอกจากนั้นนักวิเคราะห์จำนวนมากยังเชื่อว่า “นโยบายลูกคนเดียว" ของรัฐบาลจีนจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนในอนาคต เนื่องจากนโยบายดังกล่าวทำให้จำนวนประชากรในประเทศไม่เพิ่มสูงขึ้นมากนัก ส่งผลให้กำลังซื้ออยู่ในวงจำกัด สวนทางกับกำลังการผลิตในประเทศซึ่งอยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ศจ.มาเรียโน เทอร์ซี ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองระหว่างประเทศชาวอาร์เจนตินา ซึ่งทำงานให้กับมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ในบัลติมอร์ สหรัฐอเมริกา กล่าวถึงจีนไว้อย่างน่าสนใจว่า แม้จีนจะแซงหน้าขึ้นมาเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลกแทนที่ญี่ปุ่น แต่เศรษฐกิจจีนก็ยังอยู่ในระดับประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น และ “การเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลกก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลกเสมอไป" และนี่คือสิ่งที่จีนควรเรียนรู้ไว้เพื่อความไม่ประมาท และเพื่อผลักดันประเทศขึ้นสู่ความยิ่งใหญ่ในระดับโลกอย่างแท้จริง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ