ศูนย์วิจัยกสิกรฯมองสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรเป็นอีกทางเลือกเพื่อกระจายการลงทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 8, 2010 17:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ทางการเกษตรผ่านดัชนีสินค้าโภคภัณฑ์ทางการเกษตร เป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ ในสภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังต้องเผชิญกับความผันผวน เนื่องจากโภคภัณฑ์ทางการเกษตรมีความสัมพันธ์ (Correlation) กับสินทรัพย์ทางการเงิน เช่น หุ้น พันธบัตร ต่ำ

นอกจากนี้ แนวโน้มในระยะปานกลางและยาว ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทางการเกษตร ก็มีโอกาสที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น จากแนวโน้มการขยายตัวของประชากร การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะถัดไป การลดลงของพื้นที่เกษตรกรรม และแนวโน้มที่โลกอาจจะต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติมากขึ้น

ในขณะที่ระยะสั้น หรือในช่วงที่เหลือของปีนี้ต่อเนื่องไปถึงครึ่งแรกของปีหน้า ราคาสินค้าเกษตรโลกยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้อยู่จากปัจจัยหนุนหลายปัจจัย ได้แก่ สภาวะอากาศแปรปรวนในหลายประเทศในโลก

"ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2553 เป็นต้นมา พบว่า ดัชนี Deutsche Bank Agricultural Index (DBAI) อันประกอบด้วยสินค้าเกษตรกลุ่มที่มีสภาพคล่องสูงไม่ว่าจะเป็นข้าวสาลี ข้าวโพด น้ำตาล ฝ้าย เมล็ดกาแฟ ถั่วเหลือง และโกโก้ ปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากประมาณ 7.32% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากความแปรปรวนของสภาวะอากาศ อาทิ ปริมาณน้ำฝนที่มากเกินในแคนาดา ปัญหาน้ำท่วมที่รุนแรงในปากีสถาน และคลื่นความร้อนที่ส่งผลให้เกิดไฟป่า และความแห้งแล้งในรัสเซีย รวมถึงปัญหาน้ำท่วมในประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญของโลก เช่น จีน ไทย และเวียดนาม ซึ่งสร้างความวิตกต่อความเพียงพอของปริมาณผลผลิต และ กระตุ้นการเก็งกำไรในสินค้าเกษตรหลายประเภท นอกจากนี้ การปรับตัวสูงขึ้นของดัชนีราคาสินค้าเกษตรยังเป็นผลมาจากการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนของนักลงทุนในตลาดโลก ท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกด้วย" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

จากข้อมูลของ National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) ชี้ว่า ในปี 2553 นี้ สหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าทางการเกษตรที่มีการซื้อขายในตลาดล่วงหน้าใหญ่ที่สุด มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะอากาศที่แห้งแล้ง หรือน้ำท่วมขยายวงกว้างกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน NOAA ก็ยังคาดการณ์ว่า ความแห้งแล้งในสหรัฐฯ น่าจะคงอยู่จนถึงช่วงต้นปีของปี 2554 ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบ ทำให้ผลผลิตอาจจะลดลงกว่าคาดไว้ นอกจากนี้ ยังมีโอกาสมากขึ้น (โอกาส 90%) ที่สหรัฐฯ อาจต้องประสบกับพายุเฮอร์ริเคน และพายุเฮอร์ริเคนที่รุนแรง จำนวน 4-6 ลูกในปี 2553 (โดยปกติจะมีพายุเฮอร์ริเคนที่รุนแรง 2 ลูก) ซึ่งอาจจะกระทบต่อราคาสินค้าทางการเกษตร ทั้งทางตรงที่อาจเกิดความเสียหายของพื้นที่เพาะปลูก และ ทางอ้อมจากการที่ราคาน้ำมันที่มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งหนุนความต้องการพืชพลังงาน ส่งผลต่อราคาพืชพลังงาน โดยเฉพาะ ถั่วเหลือง ปาล์มน้ำมัน อ้อย ให้มีโอกาสขยับราคาขึ้นได้

ปัจจัยด้านปริมาณสต็อกของสินค้าเกษตรสำคัญ USDA คาดการณ์ว่า ปริมาณสต็อกของสินค้าเกษตรที่สำคัญอาจมีแนวโน้มลดลงจากสภาพอากาศแปรปรวนทั่วโลก ซึ่งการที่ปริมาณสต็อกของสินค้าเกษตรมีแนวโน้มลดลง ทำให้ราคาสินค้าเกษตรมีโอกาสที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมทั้ง หากความรุนแรงของสภาพอากาศ สร้างความเสียหายอย่างมากต่อผลผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นอีก ยิ่งจะเป็นปัจจัยหนุน การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตร ซึ่งปัจจุบัน องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เริ่มกังวลต่อประเด็นนี้แล้ว

ปัจจัยแนวโน้มความต้องการสินค้าเกษตรน่าจะยังอยู่ในระดับสูง จากปัจจัยหนุนที่สำคัญคือ สภาวะอากาศแปรปรวนในประเทศผู้ผลิตและบริโภคหลักที่ยังมีโอกาสเกิดขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงช่วง 3-6 เดือนแรกของปี 2554 โดยปัญหาคลื่นความร้อนที่ส่งผลต่อความแห้งแล้งในภูมิภาคยุโรปที่น่าจะดำเนินต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง จากความผิดปกติของแนวปะทะอากาศอาร์กติกที่น่าจะยังคงทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของรัสเซียยังคงอยู่ในระดับค่อนข้างสูงนั้น อาจทำให้รัสเซียยืดระยะเวลาการชะลอการส่งออกข้าวสาลีออกไปจนถึงฤดูกาลหน้า ขณะที่ ปัญหาน้ำท่วมในจีนที่อาจลากยาวออกไป รวมทั้งปัญหาน้ำท่วมในไทยและเวียดนาม อาจทำให้ปริมาณสต็อกสินค้าเกษตรประเภทธัญพืช หลายรายการลดลงอีก ซึ่งล้วนแล้วแต่กดดันให้ราคาสินค้าเกษตรดังกล่าวมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต

ประการที่สอง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในบางประเทศ/ภูมิภาค โดยเฉพาะจีน (ซึ่งเป็นประเทศผู้บริโภคสินค้าเกษตรหลัก 1 ใน 3 อันดับแรกสำหรับข้าวโพด ข้าวสาลี ถั่วเหลือง และฝ้าย) ซึ่งหนุนกำลังซื้อให้เพิ่มขึ้น อันทำให้ผู้บริโภคในประเทศอาจปรับพฤติกรรมการบริโภคด้วยการหันมาเพิ่มสัดส่วนการบริโภคเนื้อสัตว์ แทนอาหารกลุ่มแป้งมากขึ้น ส่งผลตามมาให้จีนมีความต้องการนำเข้าธัญพืชที่ใช้เลี้ยงสัตว์ อาทิ ข้าวโพด ถั่วเหลือง มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางปัญหาภัยธรรมชาติที่ส่งผลกระทบอยู่แล้วต่อพื้นที่และผลผลิตทางการเกษตรภายในประเทศ

ปัจจัยด้านนโยบายของภาครัฐที่จำกัดปริมาณอุปทานสินค้าเกษตรในตลาดโลก และนโยบายการส่งเสริมพลังงานทดแทน เนื่องจากทุกประเทศให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางด้านอาหาร ดังนั้นท่ามกลางปัญหาความแปรปรวนของสภาวะอากาศ คาดว่าประเทศผู้ผลิตและส่งออกธัญพืชหลัก อาจยังคงนโยบายที่จำกัดการส่งออก เพื่อให้ปริมาณสต็อกอยู่ในระดับที่พอเพียงกับการบริโภคในประเทศ และเป็นการลดแรงกดดันจากปัญหาเงินเฟ้อจากราคาอาหารที่สูงขึ้น นอกจากนี้ในปัจจุบันหลายประเทศยังคงย้ำเน้นนโยบายในการส่งเสริมพลังงานชีวภาพ เพื่อทดแทนพลังงานจากฟอสซิลซึ่งกำลังจะหมดไปนั้น คาดว่าจะส่งเสริมให้ราคาสินค้าเกษตรที่สามารถแปรรูปเป็นพลังงานชีวภาพ (Bio Fuel) อาทิ ถั่วเหลือง และข้าวโพด มีโอกาสขยับขึ้นอีกในอนาคต จากปัจจัยหนุนความต้องการเพิ่มขึ้นของพลังงานชีวภาพ นอกเหนือจากความต้องการบริโภคเป็นอาหาร

นอกจากนี้การปรับพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุน ท่ามกลางความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีอยู่ เนื่องจากในช่วงที่สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลักของโลกทั้งในสหรัฐฯ และประเทศในภูมิภาคยุโรปที่ประสบปัญหาวิกฤติหนี้การคลังยังไม่ชัดเจนนั้น ก็อาจทำให้นักลงทุนมีความวิตกและขายสินทรัพย์เสี่ยงในช่วงที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจออกมาไม่ดีนัก หรือต่ำกว่าคาด ซึ่งอาจส่งผลตามมาให้อัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ปลอดภัยสูง เช่น พันธบัตร ปรับตัวลดลง สำหรับทองคำ แม้ว่าทองคำอาจจะเป็นหนึ่งในทางเลือกที่นักลงทุนให้ความสนใจลงทุนภายใต้สภาวะความไม่แน่นอนดังกล่าวที่สามารถปกป้อง (Hedge) ความเสี่ยงได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่า ราคาทองคำปรับตัวไปสูงมากแล้วในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งหมายถึงความเสี่ยงที่ราคาทองคำอาจเข้าใกล้จังหวะการปรับฐานมากขึ้น ดังนั้น การลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ทางการเกษตร จึงอาจเป็นอีกทางเลือกที่นักลงทุนพิจารณากระจายการลงทุนในสัดส่วนที่สูงขึ้น อันจะหนุนราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทางการเกษตรทั้งในตลาดซื้อขายจริง และตลาดล่วงหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ