ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ(กรุงเทพโพลล์) เผยประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศยังไม่ค่อยดี เพราะถึงแม้ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ(GDP) ในช่วงครึ่งปีแรกจะเติบโตสูงสุดในรอบ 10 ปี แต่ยังมีคนส่วนใหญ่ที่มีปัญหาเรื่องหนี้สินและรายได้ลดลง ขณะที่มีประชาชนเพียงร้อยละ 22.2 เท่านั้นที่มีรายได้เพียงพอกัยรายจ่ายและมีเงินออม
"ประชาชนร้อยละ 59.9 มีความคิดเห็นเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยในขณะนี้ว่าอยู่ในสภาวะที่ไม่ค่อยดี โดยมีประชาชนที่ระบุว่ารายได้ในเดือนสิงหาคม 53 ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ในเดือนกรกฎาคม 53 มากกว่าผู้ที่ระบุว่ารายได้เพิ่มขึ้น" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
โดยประชาชนร้อยละ 28.6 มีรายได้ลดลง ส่วนประชาชนที่มีรายได้เพิ่มขึ้นมีเพียงร้อยละ 9.6 ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 61.8 มีรายได้ไม่เปลี่ยนแปลง และเมื่อนำรายจ่ายที่เกิดขึ้นในเดือนสิงหาคมมาพิจารณารวมด้วยแล้วพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 61.9 มีรายได้เพียงพอกับรายจ่าย แต่ในจำนวนนี้มีเพียงร้อยละ 22.2 เท่านั้นที่เหลือเก็บเป็นเงินออม ขณะที่ประชาชนร้อยละ 39.7 ไม่มีเงินออม สำหรับประชาชนที่มีรายได้น้อยกว่ารายจ่ายนั้นร้อยละ 29.5 ชดเชยความไม่สมดุลดังกล่าวด้วยการกู้เงินหรือหยิบยืม ขณะที่ร้อยละ 8.6 ต้องเอาเงินออมออกมาใช้
ด้านสถานะทางการเงินในปัจจุบัน ประชาชนร้อยละ 44.3 มีหนี้สิน, ร้อยละ 30.2 ไม่มีทั้งเงินออมและหนี้สิน มีเพียงร้อยละ 25.5 เท่านั้นที่มีเงินออม
ด้านการได้รับประโยชน์โดยตรงจากโครงการต่างๆ ของรัฐบาลนับจากต้นปีถึงปัจจุบัน มีประชาชนร้อยละ 53.4 ระบุว่าไม่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากโครงการของรัฐบาลเลย ส่วนที่เหลือร้อยละ 46.6 ได้รับประโยชน์ โดยโครงการที่ประชาชนได้รับประโยชน์มากที่สุดคือ โครงการน้ำฟรี ไฟฟ้าฟรี รถเมล์ฟรี รถไฟชั้น 3 ฟรี (ร้อยละ 41.2) รองลงมาเป็นโครงการเรียนฟรี 15 ปี(ร้อยละ 18.8)
สำหรับปัญหาเศรษฐกิจที่ทำให้ประชาชนเดือดร้อนมากที่สุดและต้องการให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือในขณะนี้ คือ ปัญหาราคาสินค้าที่สูงขึ้นเพราะทำให้ค่าครองชีพเพิ่มขึ้นโดยต้องการให้รัฐบาลเข้ามาช่วยควบคุมราคาสินค้ามากที่สุด(ร้อยละ 39.4) รองลงมาเป็นปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำโดยต้องการให้รัฐบาลเข้ามาประกันราคาสินค้าเกษตรให้ครอบคลุมสินค้าเกษตรทุกชนิด(ร้อยละ 10.0)
ส่วนแนวคิดของนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 250 บาทต่อวัน ประชาชนร้อยละ 64.5 เชื่อว่ารัฐบาลสามารถทำได้สำเร็จ ที่เหลือร้อยละ 35.5 เชื่อว่าไม่สามารถทำได้เนื่องจากเป็นมาตรการที่ทำยากและคิดว่าเกินความสามารถของรัฐบาล(ร้อยละ 5.7) ตลอดจนนายจ้างคงไม่เห็นด้วยเพราะจะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น(ร้อยละ 5.7)
ทั้งนี้ กรุงเทพโพลล์ได้ทำการสำรวจเรื่อง GDP ภาคประชาชน จากกลุ่มตัวอย่างทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,130 คน ระหว่างวันที่ 1-5 ก.ย.ที่ผ่านมา