(เพิ่มเติม) ม.หอการค้าแนะธปท.รีบส่งสัญญาณดูแลบาท เสนอใช้มาตรการที่ไม่กระทบตลาดหุ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 9, 2010 13:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ม.หอการค้าไทย กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรออกมาส่งสัญญาณได้แล้วว่าจะดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ โดยเสนอให้ภาครัฐใช้มาตรการทางภาษี หรือมาตรการอื่นๆ ที่ไม่มีผลต่อตลาดหุ้นเข้ามาดูแลปัญหาดังกล่าวซึ่งถือเรื่องที่สำคัญ

ทั้งนี้ ม.หอการค้าไทย ประเมินว่า หากเงินบาทแข็งค่าหลุด 30 บาท/ดอลลาร์ไปอย่างรวดเร็วภายในช่วงไตรมาส 4/53 ก็จะทำให้ประเทศไทยสูญเสียเม็ดเงินทางเศรษฐกิจไปถึง 1 แสนล้านบาททั้งจากภาคส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ประมาณ 1%

นอกจากนี้ เงินบาทที่แข็งค่าอาจจะทำให้เศรษฐกิจไทยเปราะบาง โดย GDP ในไตรมาส 4/53 อาจโตไม่ถึง 3% และทั้งปีอาจโตไม่ถึง 7% โดยอาจจะเหลืออยู่ที่ 6.5% และยังส่งผลต่อ GDP ในปี 54 ด้วยจากเดิมที่คาดว่าอาจจะโตได้ถึง 5% ก็จะเหลือเพียง 4%

"ตอนนี้ ธปท. ยังส่งสัญญาณไม่ชัดเจนว่าจะดูแลค่าเงินบาทอย่างไร...แบงก์ชาติควรจะส่งสัญญาณว่าจะดูแลค่าเงินบาทให้เหมาะสมกับเศรษฐกิจ ซึ่งควรใช้มาตรการทางภาษีหรือมาตรการอื่นๆ ที่ไม่มีผลกระทบต่อตลาดหุ้น น่าจะส่งสัญญาณตรงนี้ออกมา แทนที่จะบอกให้ผู้ส่งออกทำ swap"นายธนวรรธน์ กล่าว

นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า ธปท.ส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้งในปีนี้ ซึ่งเมื่อดอกเบี้ยสูงขึ้นก็จะทำให้ผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้สูงขึ้นด้วย ส่งผลให้ช่วงนี้มีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาในตลาดตราสารหนี้และตราสารทุน อย่างน้อย 5 หมื่นล้านบาท เพื่อแสวงหาผลตอบแทนจากการลงทุนที่อยู่ในระดับสูง จึงทำให้เกิดการเก็งกำไรได้ง่าย

ดังนั้น มองว่าการส่งสัญญาณเรื่องการดูแลค่าเงินบาทและการปรับอัตราดอกเบี้ย ถือเป็นประเด็นที่สำคัญ เพราะทุกๆ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น 1 บาทจะมีผลต่อการส่งออก 3% หรือราว 2-3 แสนล้านบาท ซึ่งที่ผานมานายกรัฐมนตรีก็ส่งสัญญาณที่ชัดเจนในการดูแลปัญญหาเงินบาทแข็งค่า ด้วยการเรียกประชุมด่วนคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ แต่ ธปท.เองกลับยังส่งสัญาณไม่ชัด

ด้านนายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาการดูแลค่าเงินบาทของ ธปท.ก็ทำได้ดีพอสมควร อย่างน้อยเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งเราไม่ได้แข็งค่าเกินไป แต่ในปัจจุบันมองว่าเกิดการสะดุด

"ไม่ทราบว่าเพราะอะไรทำให้ในเดือนส.ค.เงินบาทเราแข็งกว่าค่าเงินในภูมิภาค โดยในรอบเดือนส.ค.เงินบาทแข็งค่าสูงขึ้น 1.8% ในขณะที่ประเทศคู่ค้าสำคัญเช่นจีน ค่าเงินหยวนอ่อนลง 0.16% อินโดนีเซียอ่อนลง 0.41% แต่ถ้าเทียบตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน เงินบาทเราแข็งค่า 6.5% ในขณะที่จีนแข็งค่าไม่เกิน 1% และอินโดฯ ฟิลิปปินส์ไม่เกิน 4% เพราะฉะนั้นฝากทางผู้ว่าธปท.คนใหม่ว่าควรเข้ามาดูแลว่า ไม่ให้เงินทุนที่ไหลเข้ามาเป็นการการเก็งกำไรค่าเงิน และควรคงอัตราดอกเบี้ยไว้ก่อน และเตรียมหามาตรการรองรับเกี่ยวกับการดูแลบาทแข็งค่าไว้ด้วย"นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว

นอกจากนี้ ทางภาคเอกชนมองว่า หากค่าเงินบาทแข็งค่าต่อไปอีก 6 เดือน -1 ปีจะส่งผลให้ธุรกิจ Real Sector ต้องปิดตัวลง เนื่องจากธุรกิจกลุ่มนี้มีการจ้างแรงงานมาก ซึ่งปัญหาเงินบาทที่แข็งค่าไม่ได้กระทบเฉพาะเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบทางด้านสังคมอีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ