โบรกฯมองบาทแข็งเร็วกระทบส่งออกแต่ลงทุนขยายตัวดี แนวโน้มปี 54 อาจไปถึง 28.80

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 9, 2010 14:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์ ให้ความเห็นต่อกรณีเงินบาทแข็งค่าหลุดระดับ 31 บาท/ดอลลาร์เกินกว่าระดับที่เคยคาดการณ์ที่ได้ทำประกันความเสี่ยงไว้กระทบภาคส่งออกของไทยที่ได้รับผลลบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวอยู่แล้ว ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไตรมาส 4/53 ขยายตัวต่ำกว่าคาด แต่อีกมุมมองเชื่อว่าบาทแข็งจะช่วยผลักดันให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้น ช่วยชดเชยผลจากการส่งออกเติบโตชะลอลงไปได้ และการลงทุนจะเป็นปัจจัยหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปลายปีนี้ต่อเนื่องถึงปีหน้า

ขณะที่ทิศทางค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าจนถึงต้นปีหน้า โดยประเมินระดับแข็งค่าสุดมีโอกาสไปถึง 28.80 บาท/ดอลลาร์

*เงินบาทแข็งค่าเร็วมีผลกระทบอย่างไรต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย

น.ส.ถนอมศรี ฟองอรุณรุ่ง นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ฝ่ายวิจัย บล.ภัทร(PHATRA)กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"ว่า "ระยะสั้นจะทำให้รายได้ที่เข้ามาในรูปของเงินบาท มันลดต่ำลงไปด้วย ซึ่งมันก็มีส่วนด้วยเหมือนกันเพราะมันจะไปกระทบเรื่องการส่งออก แต่จริง ๆ การส่งออกจะไปเกี่ยวข้องกับเรื่องของภาวะเศรษฐกิจโลกมากกว่า ถ้าเศรษฐกิจโลกตกต่ำ ปริมาณส่งออกมันลดด้วย ซึ่งในไตรมาส 4/53 เราคงจะเห็นโดน 2 impact คือ เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ปริมาณการขยายตัวของการส่งออกก็น้อย ขณะเดียวกันค่าเงินบาทก็แข็งอีก เมื่อออกมาในรูปของค่าเงินบาทก็จะลดลง"

"เดิมเรามองไว้ว่าตัวเลข GDP ของไทยในไตรมาส 4/53 น่าจะเติบโตได้สัก 2% แต่พอมาเจอเรื่องเงินบาทแข็งค่า ก็คิดว่าตัวเลข GDP ของไทยน่าจะโตได้สัก 1-2% น่าจะทำได้ แม้ว่าเงินบาทจะอยู่ที่ 30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ถ้าเศรษฐกิจโลกยังทรงตัวอยู่ได้ แต่ถ้าทั้งปีนี้(53)เราประมาณการตัวเลข GDP ไว้ 6.7% การเติบโตหลัก ๆ ยังมาจากเรื่องของการส่งออก ซึ่งในครึ่งปีแรก(H1/53)ตัวเลขการส่งออกทำได้ดีมาก และในครึ่งปีหลัง(H2/53)มันก็จะมีโมเมนตัมส่งต่อไปที่การลงทุน และการส่งออกก็ยังโอเค โดยการลงทุนก็มีการขยายตัวดีขึ้น และการส่งออกยังโตได้ เพียงแต่อัตราการขยายตัวคงชะลอลง"

ขณะที่นายปรากรม ปฐมบูรณ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส บล.เคจีไอ(ประเทศไทย)หรือ KGI กล่าวว่า "เงินบาทแข็งค่าเร็ว คงจะไม่ส่งผลกระทบต่อตัวเลข GDP ของไทยมากนัก แต่จะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก แต่มองว่าการส่งออกยังเติบโตได้เพียงแต่มีการขยายตัวที่ลดลงเท่านั้น และสิ่งที่ตามมาคือในเรื่องของการลงทุน(investment)ที่มองว่าน่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น และการลงทุนนี้จะเป็นตัวหลักของปีนี้และปีหน้าด้วย"

"ตอนนี้ยังคาดการณ์ตัวเลข GDP ของไทยจะเติบโต 7.2% แม้เงินบาทแข็งค่าก็คงจะยังไม่ปรับตัวเลขลง เพราะมี investment เพิ่มขึ้น ส่วนปีหน้าคาดว่าตัวเลข GDP ของไทยจะเติบโต 3.9% โดยยังคงได้เห็นการขยายตัวของการส่งออก ซึ่งปีหน้าคาดว่าการส่งออกจะขยายตัวเฉลี่ย 14% และมองการขยายตัวสูงสุดที่ 17-18% ส่วนต่ำสุดมองที่ 11-12%

ส่วน import ในปีหน้า(54)น่าจะเยอะขึ้น เพราะไทยมีการสร้างรถไฟฟ้าหลายสาย ทำให้จำเป็นจะต้องนำเข้าพวกรถยก, รถเครน และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าตัวเลขนำเข้าปีหน้าจะขยายตัว 17%"

*ค่าเงินบาทที่ระดับไหนจึงจะมีเสถียรภาพ

น.ส.ถนอมศรี กล่าวว่า"จริง ๆ พูดยาก เพราะเราเทียบแค่บาท-ดอลลาร์ฯไม่ได้ เราจะต้องดูคนอื่นด้วย ประเทศคู่ค้าต่าง ๆ ซึ่งถ้าค่าเงินของทุกคนแข็งเหมือน ๆ กัน impact ในเรื่องของ competitive มันก็ไม่ได้กระทบมากนัก แม้ว่าตอนนี้ประเทศอื่นในภูมิภาคจะมีค่าเงินที่แข็งค่าเหมือนกันหมด แต่ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา(ส.ค.-ก.ย.)ค่าเงินบาทของเรามันแข็งกว่าคนอื่น และค่าเงินมันแข็งเร็วมาก"

"ถ้าหลุดแนว 30 บาท คนที่จะกระทบเป็นพวก exporter ต้อนเช็คว่าเขาคิดว่ายังไง แต่ ณ วันนี้ก็ได้ยินมาว่า เขาก็เริ่มบ่นเหมือนกันว่าถ้าไปถึง 30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ เขาก็เริ่มไม่ไหวเหมือนกัน เพราะเขาก็ทำประกันความเสี่ยงหรือ expect ว่า มันจะอยู่ระดับ 31-32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ในส่วนของเราคิดว่าถ้าเงินบาทไปแถว 30 บาท หรือหลุดระดับ 30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ คงจะมีผลกระทบเยอะ"

"ตอนนี้โดยส่วนใหญ่พวก exporter จะทำประกันความเสี่ยงไว้แถว 31-32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่โดยปกติพวกนี้เวลาทำจะเป็น lot และมักจะทำระยะ 3 เดือน 6 เดือน" นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส PHATRA กล่าว

ด้านนักเศรษฐศาสตร์อาวุโส KGI กล่าวว่า "ขณะนี้เงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชีย จะเห็นได้ว่าเงินเยนแข็งค่าสุดเป็นอันดับ 1 ที่ 9.8% รองลงมาเป็นเงินของมาเลเซียที่แข็งค่า 9.08% ส่วนเงินบาทไทยแข็งค่าเป็นอันดับที่ 3 ที่ 7.4% ซึ่งเป็นการคิดตั้งแต่ 30 ธ.ค.52 จนถึงปัจจุบัน"

"เงินบาทระดับไหนจะมีเสถียรภาพเรื่องนี้มองว่าระดับไหนก็ได้ แต่อย่าให้มีความผันผวนขึ้น-ลงมากเกินไป ซึ่งปีนี้เงินบาทผันผวนน้อยมาก เพราะมันไปทิศทางแข็งค่าอย่างเดียว โดยปีนี้คาดว่าเงินบาทจะอยู่ที่ 30.80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯฯ แต่ตอนนี้ได้มาถึงแล้ว ดังนั้น จึงคิดจะปรับประมาณการเงินบาทใหม่เป็น 30.30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ

ส่วนปีหน้าเงินบาทคงจะอยู่ที่ 28.80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ และปีหน้าคงผันผวนมากกว่าปีนี้ โดยคาดช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์เงินบาทคงจะยังแข็งค่า หลังจากนั้นก็จะอ่อนค่าลง"

*เงินบาทแข็งค่าจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจอะไรบ้าง

น.ส.ถนอมศรี กล่าวว่า "ธุรกิจส่งออก ที่มีการ import content(ที่มีการนำเข้าสินค้าขั้นกลางวัตถุดิบน้อย) น้อย ๆ พวกนี้จะกระทบค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะพวกสินค้าเกษตร พวกนี้ import content มันต่ำ เพราะฉะนั้นน่าจะโดนเยอะ โดยเฉพาะพวกที่มีการใช้วัตถุดิบภายในประเทศเยอะ พวกนี้จะได้รับผลกระทบสูง เพราะตั้งราคาไว้ แล้วขายออกไปในราคาที่ต่ำลง แต่ส่วนที่จะได้ประโยชน์คือพวกที่นำเข้าสินค้าเข้ามา เพราะต้นทุนของเขาจะลดลง"

สำหรับนายปรากรม กล่าวว่า "พวกส่งออกที่เป็น local content สูง ๆ คือพวกที่อาศัยต้นทุนในประเทศมากจะได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า อย่างเช่นธุรกิจเกษตร, พวกตัดเย็บเสื้อผ้า, กลุ่มอาหารก็มีส่วนบ้าง เพราะพวกนี้จะใช้แรงงานในประเทศสูง"

"อย่างไรก็ดี ก็มีเหตุการณ์น้ำท่วมที่จีน, ปากีสถาน และต่อไปก็อาจจะมีพายุโซนร้อนที่เวียดนาม ซึ่งทำให้พื้นที่เพาะปลูกน้อยลง ผลผลิตลดลง แต่ราคาสินค้าเกษตรจะสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข้าว, ยางพารา หรือแม้กระทั่งน้ำตาล ซึ่งการที่ราคาสินค้าสูงขึ้นก็จะสามารถไปชดเชยเงินบาทแข็งค่าได้บ้าง ทำให้ผลลบจากบาทแข็งค่าอาจไม่มากเท่าไร"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ