ก.เกษตรฯเพิ่มพื้นที่ชลประทานเก็บน้ำต้นทุน วางรูปแบบการใช้น้ำให้เหมาะสม

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 9, 2010 15:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้ตั้งคณะกรรมการดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรขึ้น โดยมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน เพื่อบูรณาการหน่วยงานในสังกัดระดับจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการกำหนดแนวทางพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรโดยตรง โดยคำนึงถึงศักยภาพของพื้นที่ ความต้องการของชุมชนเป็นสำคัญ รวมทั้งใช้พื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาแหล่งน้ำเป็นศูนย์กลาง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิต การเพิ่มมูลค่า การตลาด และการบริหารจัดการให้เป็นไปอย่างมีเอกภาพ โดยมีคณะอนุกรรมการบูรณาการแผนปฏิบัติการพัฒนาด้านการเกษตรระดับจังหวัด เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนแผนสู่การปฏิบัติ

การดำเนินงานจะประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ ได้แก่ การคัดเลือกสำรวจข้อมูลพื้นที่เป้าหมายที่เหมาะสม ทั้งเชิงโครงสร้างและรายสินค้า อย่างน้อยจังหวัดละ 1 พื้นที่ โดยมีการสำรวจครัวเรือนเกษตรกร และจัดเก็บข้อมูลเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมาย แล้วจัดทำเวทีประชาคมขึ้นเพื่อสร้างกระบวนการ มีส่วนร่วมในชุมชน และสรุปแนวทางการดำเนินงานร่วมกัน ทั้งในด้านแผนงาน โครงการ กิจกรรม และงบประมาณ ให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน อันจะเป็นผลดีต่อการนำไปปฏิบัติในพื้นที่ โดยมุ่งเน้นให้มีการสื่อสารการปฏิบัติงานตามแผนงานบูรณาการในทุกระดับ เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งมีการติดตามและประเมินผลอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

ในปี 2553 กระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินการในพื้นที่นำร่อง เขต 3 ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว นครนายก สมุทรปราการ และ เขต 9 ได้แก่ ระยอง ชลบุรี จันทบุรี ตราด เพื่อศึกษาทิศทางและผลการดำเนินงานที่จะนำไปสู่การพัฒนาโครงการที่มีประสิทธิภาพในพื้นที่อื่นทั่วประเทศต่อไป

สำหรับการดำเนินการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรของจังหวัดฉะเชิงเทรา มีพื้นที่ดำเนินงาน จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1) พื้นที่งานก่อสร้างท่อระบายปากคลองส่งน้ำ กม.6+000 หมู่ 5,6 ตำบลเมืองเก่า, หมู่ 6 ตำบลท่าถ่าน หมู่ 10, 11 ตำบลหนองแหน อำเภอพนมสารคาม จำนวนพื้นที่ได้รับประโยชน์รวม 2,000 ไร่ แบ่งเป็น พื้นที่นา 1,800 ไร่ พื้นที่บ่อเลี้ยงปลา 200 ไร่ จำนวนเกษตรกรได้รับประโยชน์ 93 ครัวเรือน และ 2) พื้นที่ท้ายอ่างเก็บน้ำคลองสียัด ตำบลท่าตะเกียบ อำเภอท่าตะเกียบ จำนวนพื้นที่ได้รับประโยชน์ 3,100 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่นา 1,200 ไร่ บ่อเลี้ยงปลา 200 ไร่ ยางพารา 500 ไร่ ยูคาลิปตัส 400 ไร่ มันสำปะหลัง 300 ไร่ ไม้ผล 300 ไร่ และอื่นๆ อีก 200 ไร่ จำนวนเกษตรกรได้รับประโยชน์ 154 ครัวเรือน ซึ่งพื้นที่ทั้ง 2 แห่งนี้ เป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมและมีศักยภาพ เป็นแหล่งผลิตข้าวพันธุ์ดีของจังหวัด จึงส่งเสริมการผลิตข้าวที่มีคุณภาพ โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยและได้มาตรฐาน ส่งเสริมการใช้ปัจจัยการผลิตที่เหมาะสม เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมทั้งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยการผลิตที่เหมาะสม ตลอดจนส่งเสริมการรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ