นายฉิม ตันติยาสวัสดิกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายระบบข้อสนเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวว่า ในวันนี้นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธปท.ได้เชิญสมาคมธนาคารไทยและผู้บริหารธนาคารพาณิชย์มาร่วมหารือเพื่อรับทราบแนวทางการปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียมบริการชำระเงิน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดภาระและต้นทุนให้กับผู้ประกอบการและผู้บริโภค รวมทั้งส่งเสริมการใช้ e payment แทนการใช้เงินสดและเช็ค
วันนี้ที่ประชุมได้มีแนวทางที่เป็นข้อสรุปร่วมกัน คือ จะปรับค่าธรรมเนียมการโอนเงินอิเล็คทรอนิกส์รายย่อยระหว่างธนาคารที่ปัจจุบันคิดตามวงเงิน 3 อัตรา คือ 12 บาทสำหรับวงเงินไม่เกิน 1 แสนบาท , 40 บาทสำหรับวงเงินเกิน 1 แสนบาทขึ้นไปจนถึง 5 แสนบาท และ 100 บาทสำหรับวงเงินเกิน 5 แสนบาทขึ้นไปจนถึง 2 ล้านบาท โดยจะให้คิดอัตราเดียวเท่านั้น คือ 12 บาทสามารถโอนเงินได้ไม่เกิน 2 ล้านบาทต่อรายการ เริ่มตั้งแต่ 15 ธ.ค.นี้
สำหรับการปรับค่าธรรมเนียมประเภทอื่น ๆ ธปท.จะหารือกับธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งในโอกาสต่อไป แต่ระหว่างนี้ ทางธปท.จะส่ง position paper เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งได้พิจารณาและให้ความเห็นอย่างเป็นทางการ โดยกำหนดให้ตอบกลับมาภายใน 20 ก.ย.นี้ คาดว่ากว่าจะได้ข้อสรุปการปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียม โดยเฉพาะค่าธรรมเนียมการใช้บริการตู้เอทีเอ็มน่าจะได้ข้อสรุปภายในไตรมาส 2/54
นายฉิม กล่าวว่า จากที่ได้ประเมินแล้วการที่แต่ละธนาคารจะปรับลดค่าธรรมเนียมการโอนเงินดังกล่าวจะทำให้สูญเสียรายได้ 100 ล้านบาท/ปี แต่หากดำเนินการตามโครงสร้างค่าธรรมเนียมใหม่จะสูญเสียรายได้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาททั้งระบบ ส่วนที่ ธปท.จะชดเชยรายได้อย่างไรก็จะมีการหารือกันในโอกาสต่อไป
ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย(KTB) กล่าวภายหลังการหารือวันนี้ว่า การปรับค่าธรรมเนียมโอนเงินผ่านเค้าท์เตอร์ถือว่ารับได้ เพราะเป็นการสร้างความสมดุลระหว่างสังคมกับธนาคาร แม้ว่าจะกระทบกับรายได้ของธนาคารแน่นอน แต่ที่สุดก็จะทำให้ประชาชนที่เป็นลูกค้าของธนาคารได้รับประโยชน์