ธนาคารกลางเกาหลีใต้เปิดเผยผลการสำรวจบริษัทเอกชน 1,529 แห่งว่า ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทเอกชนเกาหลีใต้ขยายตัวขึ้นใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 5 ปีในไตรมาส 2 ของปีนี้ เนื่องจากยอดขายที่สูงขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัว
อัตราเฉลี่ยของกำไรจากการดำเนินงานต่อยอดขาย ซึ่งเป็นมาตรวัดของความสามารถในการทำกำไรนั้นอยู่ที่ 7.7% ในไตรมาส 2 เพิ่มขึ้นจากระดับไตรมาสแรกที่ระดับ 7.2% โดยสถิติการขยายตัวในไตรมาส 2 นั้น ถือเป็นระดับการขยายตัวสูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปี 2548 ที่ขยายตัวถึง 8%
แต่อัตราเงินได้สุทธิก่อนหักภาษีของบริษัทในประเทศต่อยอดขายนั้น อยู่ที่ 7.3% ในไตรมาส 2 ซึ่งชะลอตัวลงจากระดับไตรมาสแรกที่ 9.2% ขณะที่เงินวอนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้มูลค่าหนี้ต่างประเทศสูงขึ้น
สำนักข่าวยอนฮัพรายงานว่า คิม ยุง ฮัค หัวหน้าฝ่ายสถิติบริษัทเอกชนของแบงค์ชาติเกาหลีใต้ กล่าวว่า เมื่อไตรมาสที่แล้ว ยอดขายของบริษัทในประเทศ มีประสิทธิภาพในการทำกำไรและความแข็งแกร่งทางการเงินสูงขึ้น แต่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและแนวโน้มการส่งออกในไตรมาส 3 บ่งชี้ว่ายอดขายมีแนวโน้มชะลอตัวลง
ทั้งนี้ เศรษฐกิจเกาหลีใต้ฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง เนื่องจากการส่งออกที่สดใสและดีมานด์ในประเทศที่ดีขึ้น โดยบริษัทของเกาหลีใต้สามารถทำรายได้สูงขึ้น หลังจากที่เศรษฐกิจขยายตัว 7.2% ในไตรมาส 2
ยอดขายของบริษัทเกาหลีใต้ในไตรมาส 2 นั้น เพิ่มขึ้น 19% จากระดับไตรมาสแรกที่ 17.4% และยังขยายตัวอย่างรวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2551 ที่ขยายตัว 28.6%