Xinhua's Interview: ผู้เชี่ยวชาญของ IMF ระบุปัจจัยพื้นฐานบ่งชี้จีนยังเป็นประเทศกำลังพัฒนา

ข่าวต่างประเทศ Friday September 10, 2010 12:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ไนเจล ชอล์ค ที่ปรึกษาอาวุโสฝ่ายเอเชียและแปซิฟิคของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ชี้จีนยังเป็นประเทศกำลังพัฒนา เมื่อพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐาน ขณะที่พื้นที่ในชนบทจำนวนมากของจีนเองก็ยังคงอยู่ในสภาพที่ยากจน

ผู้เชี่ยวชาญของ IMF กล่าวให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัว โดยเจียง สู่เฟิง และหลิว หลี่นาว่า ประชากรจีนประมาณครึ่งหนึ่งยังคงใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ชนบทที่ยากจน เมื่อเราดูที่ปัจจัยบ่งชี้ เช่น ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อประชากร ซึ่งยังอยู่ที่ระดับต่ำมาก โดยเมื่อเปรียบเทียบกับอังกฤษแล้วอาจจะอยู่ที่ 1 ใน 10 และคิดเป็นแค่เศษเสี้ยวของสถิติในสหรัฐ

ชอล์คได้เดินทางเยือนจีนมากกว่า 20 ครั้งแล้วมองว่า เมื่อเดินทางไปยังพื้นที่ชั้นในของประเทศ เช่น มณฑลกานซูเหมือนกับที่เขาได้ไปเยือนในช่วงฤดูร้อนนี้ ภาพที่ได้เห็นนั้นมีความแตกต่างเป็นอย่างยิ่งกับภาพในเมืองใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้ ขณะที่เมืองใหญ่ตามชายฝั่งของจีนเองก็ไม่ได้เป็นตัวแทนที่แท้จริงที่จะสื่อถึงสภาพความเป็นไปของจีน

ในขณะที่ชอล์คได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับความสามารถของจีนในการรับมือกับวิกฤตการเงินโลกนั้น ชอล์ค กล่าวว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้ใช้มาตรการกระตุ้นการเงินและการคลังอย่างรวดเร็วและทรงพลัง เพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจและผลักดันดีมานด์ในประเทศ ซึ่งมาตรการดังกล่าวสามารถกระตุ้นดีมานด์ภายในประเทศได้ เช่นเดียวกับการลงทุนและการบริโภค

แม้ความต้องการในต่างประเทศจะลดลงอย่างหนักหลังจากที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยครั้งรุนแรง เศรษฐกิจจีนสามารถขยายตัวได้ถึง 8.7% ในปีที่แล้ว เมื่อเทียบเป็นรายปี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 4 ล้านล้านหยวน หรือ 5.91 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อเดือนพ.ย. 2551

ชอล์ค กล่าวต่อไปว่า ตัวเลขสถิติทั้งหลายคงจะแสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ต่างด้วยตัวของมันเอง ซึ่งแท้ที่จริงๆแล้วเศรษฐกิจของประเทศใดที่เกี่ยวพันกับจีนมาก เศรษฐกิจของประเทศนั้นก็จะสามารถฟื้นตัวจากวิกฤตได้เร็วมากด้วย

อย่างไรก็ดี ชอล์คเตือนว่า ผู้บริหารระดับนโยบายของจีนควรจะให้ความสนใจกับความเป็นไปได้ที่จะมีการลดคุณภาพเงินกู้ หลังจากที่ธนาคารในจีนได้ปล่อยสินเชื่อมหาศาลเพื่อสนับสนุนการลงทุน ขณะที่ราคาบ้านก็อยู่ในระดับสูง และยังมีเรื่องท้าทายต่างๆนานาเข้ามาอีกในอนาคตอันใกล้นี้

ข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนชี้ว่า ราคาอสังหาริมทรัพย์ในเมืองใหญ่ 70 เมืองในจีนนั้น สูงขึ้น 9.3% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี

ชอล์ค กล่าวว่า ปัจจัยท้าทายจีนในอนาคตก็คือ การขยายตัวจากฐานที่มีอยู่ และการก้าวไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของดีมานด์ภายในประเทศ และการบริโภคภาคเอกชนมากขึ้น และพึ่งพาการส่งออกน้อยลง อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญรายนี้มองว่า การบริหารท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอาจจะยุ่งยากและไม่สามารถกำหนดล่วงหน้าได้ โดยเฉพาะประเทศที่มีขนาดใหญ่โตมโหฬารเช่นนี้ การที่จะเปลี่ยนแปลงไปจากระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออกสู่ระบบเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการบริโภคภาคเอกชน จะต้องมีการปฏิรูปที่แตกต่างกันไปและการใช้ความพยายามอย่างสูง

"นับเป็นงานที่ซับซ้อน การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจมหภาคในรูปแบบที่มีการใช้มาตรการจูงใจเพื่อดึงนักลงทุนให้หันไปลงทุนในประเทศแทนที่การส่งออก และการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมบริการไปสู่ผู้บริโภคจีนนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ" ชอล์ค กล่าว

ผู้เชี่ยวชาญของ IMF ผลักดันให้จีนเดินหน้าการปฏิรูปในภาคสังคมต่อไป เช่น การปฏิรูปด้านสาธารณสุข เพื่อให้ชาวจีนมีความมั่นคงทางสังคมและมีแรงจูงใจที่จะใช้จ่ายมากขึ้น

นอกจากนี้ ชอล์ค ยังมองว่า จีนควรจะส่งเสริมการลงทุนในภาคเทคโนโลยีและวิจัย เพื่อกระตุ้นการจ้างงาน และช่วยให้จีนสามารถเพิ่มมูลค่าได้ในระบบเศรษฐกิจโลก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ