ส่งออกข้าวจ๊ากบาทแข็งโป๊ก จี้รัฐออกมาตรการสกัดด่วน-ส่งสัญญาณตรึงดอกเบี้ย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 10, 2010 14:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เอกชนส่งออกแนะรัฐบาลควรมีมาตราการควบคุมเงินทุนไหลเข้าออก รวมถึงชะลอปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะต่อไป เพื่อสกัดการแข็งค่าอย่างหนักของเงินบาท ซึ่งแม้ว่าจะแข็งค่าทิศทางเดียวกับภูมิภาค แต่การตัวผันผวนและรวดเร็วเกินไป ทำให้ผู้ส่งออกปรับตัวไม่ทัน ส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้ส่งออกที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งข้าวออกไทย กล่าวว่า ถึงเวลาที่รัฐบาลควรจะออกมาตรการบางอย่างเพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออกได้แล้ว โดยเฉพาะการควบคุมเงินทุนไหลเข้า-ออกด้วยการกำหนดระยะเวลาในการเข้ามาของเงินทุน และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ควรจะต้องส่งสัญญาณชัดเจนว่าอีก 6 เดือนข้างหน้าอัตราดอกเบี้ยจะไม่ปรับขึ้น เพื่อลดความร้อนแรงของค่าเงินบาท เพราะทุกคนเก็งกันว่าอัตราดอกเบี้ยอาจจะค่อยๆขึ้น จะทำให้เงินไหลเข้ามาต่อเนื่อง

"เราควรจะต้องส่งเสียงไปให้ภาครัฐอย่างจริงจังเพื่อสกัดไม่ให้ค่าเงินแข็งค่าเร็วเกินไป แต่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าต้องทำอย่างไร เป็นเรื่องที่ธปท.ต้องไปพิจารณาแนวทางที่เหมาะสม เพราะตอนนี้ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไป และแข็งค่าเร็วกว่าภูมิภาคด้วย"นายชูเกียรติ กล่าว

นายชูเกียรติ กล่าวว่า ในส่วนของสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ล่าสุดก็ได้มีการพบปะหารือกับสมาคมส่งออกต่างๆ ประมาณ 10 สมาคมเมื่อวานนี้ ซึ่งได้รับทราบความเห็นถึงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ค่าเงินบาท โดยหลังจากนี้คงจะมีทั้งไปเจรจากับ ธปท.และทำจดหมายตามไปด้วย

และในวันนี้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ(ส.อ.ท.)นัดหารือเพื่อระดมความคิดเห็นเรื่อง ทิศทางค่าเงินบาท ผลกระทบและมาตรการรองรับให้กับผู้ส่งออก คาดว่าน่าจะมีข้อสรุปที่ชัดเจนออกมาบ้าง

นายชูเกียรติ กล่าวว่า ตั้งแต่ค่าเงินบาทแข็งค่าลงมาเรื่อยๆตั้งแต่ต้นปี ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกข้าวลดลง 6% ในรูปแบบของเงินดอลลาร์ แต่ถ้าในรูปของเงินบาทคาดว่าลดลงมาประมาณกว่า 10% ซึ่งหากไม่มีเหตุการณ์อะไรที่ทำให้ผลผลิตขาดแคลนเป็นเหตุให้ราคาพุ่งสูงขึ้น ก็คาดว่าการส่งออกข้าวของไทยในปีหน้าอาจจะเป็นปัญหาพอสมควร เพราะขณะนี้ราคาข้าวไทยกับเวียดนามก็ยังห่างกันอยู่ แต่ตอนนี้เวียดนามตื่นตระหนกเรื่องราคาข้าวพอสมควร

"ช่วงก่อนหน้านี้ที่ราคาข้าวเวียดนามสูงขึ้นมา 100 กว่าเหรียญ/ตัน ในช่วงเวลาไม่ถึงเดือน เพราะมีการตื่นตระหนกว่าจะเกิด Oversold หรือเปล่า แต่พอเช็คแล้วปรากฎว่ายังมีสต็อกเหลืออยู่เป็นล้านตัน ตอนนี้ราคาก็เริ่มลงแล้ว ขณะที่ของเราราคายังสูงโด่งกว่าตลอดเวลา มีข้าวบางชนิดเท่านั้นที่เรายังขายได้เพราะไม่มีคู่แข่งคือข้าวหอมมะลิ แต่ว่าจะนวนก็ลดลงเพราะราคาเป็นประเด็น หรือข้าวนึ่งที่ตอนนี้เราเป็นตัวนำตลาดเพราะอย่างน้อยตอนนี้อินเดียไม่ส่งออก แต่ถ้าเกิดวันดีคืนดี อินเดียกลับมาส่งออก และอินเดียไม่มีปัญหาเรื่องผลผลิตเลย และสต็อกเหลือเยอะ ก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น"นายชูเกียรติ กล่าว

อนึ่ง ช่วง 1 ม.ค.-3 ก.ย.53 ไทยส่งออกข้าวไปแล้ว 5.36 ล้านตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 52 ที่ส่งออกไป 5.904 ล้านตัน วันที่ 1-3 ก.ย.53 (3 วัน)ส่งออกข้าวได้ 92,000 ตัน จากปี 52 ส่งออกได้ 108,000 ตัน ลดลง 14%

นายชูเกียรติ กล่าวว่า เดือนนี้อาจจะเป็นอีกเดือนนึงที่เราส่งออกแพ้เวียดนาม หลังจากเดือนส.ค.53 เราก็ส่งออกข้าวแพ้เวียดนาม โดยเราส่งออกได้ 5.8 แสนตัน เวียดนามส่งออกได้ 7.2 แสนตัน และการที่รัฐบาลระบายข้าวออกมาก็จะเป็นอีกประเด็นนึงที่ทำให้ซัพพลายในตลาดเพิ่มขึ้นมาก และไม่น่าจะทำให้ขายได้ง่ายเท่าไหร่

ทั้งนี้ คาดว่าถึงสิ้นเดือน ก.ย.ไทยน่าจะส่งออกข้าวได้ 6 ล้านตัน และทั้งปีน่าจะยังได้ 8.5 ล้านตันตามเป้าหมาย แม้ว่าตลาดแอฟริกาจะเริ่มชะลอตัวลง เนื่องจากราคาข้าวค่อนข้างแพงและหันไปบริโภคธัญญาหารชนิดอื่น เช่น ข้าวโพด ลูกเดือย ฯลฯ

*แนวโน้มยังแข็งค่าต่อถึงปีหน้า แนะผู้ส่งออกเตรียมรับมือ

ด้านนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ประธานคณะกรรมการธุรกิจเกษตรและอาหาร สภาหอการค้าไทย เปิดเผยกับกับ"อินโฟเควสท์"ว่าเงินบาททีแข็งค่าลงมาอยู่ที่ระดับ 30 บาทปลายๆ/ดอลลาร์ในขณะนี้ถือว่าแข็งค่าเร็วกว่าที่คาด และถือว่าเงินบาทแข็งค่าเร็วกว่าประเทศเพื่อนบ้าน แนวโน้มเงินบาทจะแข็งค่าต่อเนื่องไปจนถึงปี 54

การแข็งค่าของเงินบาทแต่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสำคัญ คือ เงินทุนที่ไหลเข้ามา ซึ่งขึ้นกับดอกเบี้ยและสถานการณ์เศรษฐกิจโลก สหรัฐ และยุโรป หากอัตราดอกเบี้ยของเรายังสูงกว่าคนอื่น สภาพเศรษฐกิจของต่างประเทศยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น การลงทุนในสหรัฐยังไม่ให้ผลตอบแทนที่ดี ก็เชื่อว่าเงินต่างประเทศก็จะยังจะไหลเข้ามาที่บ้านเรา

ประเด็นที่ 2 คือ ความสามารถในการส่งออกที่มากขึ้นกว่าปีที่แล้ว ทำให้เงินไหลเข้ามามากกว่าปกติ ขณะที่นำเข้าน้อยกว่า ตอนนี้สัดส่วนระหว่างส่งออกกับนำเข้าเหลื่อมล้ำกันพอสมควร ซึ่งรายได้จากการส่งออกคิดเป็น 70% ของ GDP

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ นักวิชาการทางด้านเศรษฐกิจและผู้ส่งออกส่วนใหญ่ต่างคาดการณ์ว่าเงินบาทมีโอกาสทดสอบหลุด 31 บาท/ดอลลาร์ ไปทดสอบระดับ 30 บาท/ดอลลาร์แน่นอนภายในสิ้นปีนี้ อาทิ ม.หอการค้าไทย คาดว่าเงินบาทจะทดสอบระดับ 29.80 บาท/ดอลลาร์ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้

"เราเคยคิดว่าเงินบาทจะหลุด 31 บาท/ดอลลาร์ ทดสอบระดับ 30 บาท/ดอลลาร์ภายในสิ้นปีนี้ ตอนนี้ก็มาอยู่แถวๆ 30 ปลายๆ ไม่คิดว่าจะเร็วขนาดนี้ มีบางคนพูดถึงระดับ 29 บาท/ดอลลาร์"นายพรศิลป์ กล่าว

นายพรศิลป์ กล่าวว่า จริงอยู่ที่เงินบาทเราแข็งค่าไปในทิศทางเดียวกันกับภูมิภาค โดยแข็งค่าเป็นอันดับ 2 รองจากมาเลเซีย แต่ของเรากลับแข็งค่ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเช่นเวียดนาม ซึ่งการที่เงินบาทแข็งค่าเร็วกว่าคาดทำให้ผู้ส่งออกปรับตัวกันไม่ทัน เพราะหายไปประมาณ 30-40 สต.ภายใน 2 สัปดาห์ถือว่ามาก

ประเด็นที่น่าเป็นห่วงหลังจากนี้ คือ เงินบาทจะแข็งค่าลงไปอีกและต่อเนื่องจนถึงปี 54 ผู้ส่งออกต้องเตรียมตัวรับมือ, ขอเตือนผู้ส่งออกเวลาขายอย่าขายล่วงหน้ามากเกินไป ลดความเสี่ยงลงให้มากที่สุด ขายล่วงหน้าส่งมอบภายใน 1 เดือนน่าจะดี และพยายามเจรจาขอขึ้นราคาสินค้า แต่คงจะเป็นไปได้ยากถ้าไม่ใช่สินค้าที่มีแบรนด์เนม หรือเป็นสินค้าที่มีคู่แข่งที่ใกล้เคียงกันในตลาด

"สรุปว่า ถ้าไม่ทำอะไรเลยสินค้าที่มีการใช้ชิ้นส่วนในประเทศไทยเยอะๆ เช่น ภาคเกษตร อาจจะกำไรน้อยลงหรือขาดทุน แต่ถ้าภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่นำเข้าชิ้นส่วนมาสามารถเก็งกำไรได้ เผลอๆ กำไรด้วย เช่น ทูน่า ถ้าซื้อเป็นเหรียญสหรัฐ ยังไม่ต้องจ่ายเงินก่อนก็ได้"นายพรศิลป์ กล่าว

นายพรศิลป์ คาดว่า ทางออกตอนนี้คือ ธปท.ช่วยออกมาดูแลเรื่องค่าเงินบาทแข็งค่าเร็ว จากต้นปีเงินบาทอยู่ที่ 32-33 บาท/ดอลลาร์ จนมาอยู่ที่ 30 ปลายๆในตอนนี้ หายไปประมาณ 2-3 บาทถือว่าเร็วมาก

"ธปท.ควรเข้ามาแทรกแซงเป็นครั้งๆ อย่าให้เงินบาทแข็งค่าลงเร็วนัก เอกชนอย่าขายล่วงหน้าไกล ลดความเสี่ยงลงให้มากที่สุด"นายพรศิลป์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ