น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า สหภาพยุโรปหรืออียู ได้เพิ่มมาตรการตรวจเข้มสารตกค้างในสินค้าผักสดจากไทยเพิ่มเติมอีก 2 รายการ คือ ผักชี (coriander) และใบกระเพรา-โหระพา (holy, sweet basil) ที่ระดับร้อยละ 20 อีกทั้งเพิ่มมาตรการตรวจเข้มการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์โดยเฉพาะเชื้อซัลโมแนลล่าในผักสดจากไทย 3 รายการ คือ ผักชี ใบกะเพรา-โหระพา และใบสะระแหน่ (mint) ที่ระดับร้อยละ 10
อนึ่ง อียูได้ประกาศระเบียบ Regulation No 669/2009 เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2552 เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าประเภทอาหารสัตว์และอาหารมนุษย์ที่มิได้มีแหล่งกำเนิดจากสัตว์ที่นำเข้าจากกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงในการมีสารตกค้างและยาฆ่าแมลง มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2553 เป็นต้นมา ส่งผลให้ผักสดจากไทยจำนวน 3 รายการ คือ ถั่วฝักยาว ผักในตระกูลมะเขือ และผักในตระกูลกะหล่ำ ถูกสุ่มตรวจสอบสารตกค้าง ณ ด่านนำเข้า ร้อยละ 50 ของปริมาณสินค้าทั้งล็อต และล่าสุดอียูได้ประเมินการใช้มาตรการดังกล่าวในช่วงเดือนมกราคม — มีนาคม 2553 และได้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบมากขึ้น ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2553 เป็นต้นไป โดยจะยังคงมาตรการตรวจเข้มสารตกค้างในสินค้าผักสดจากไทยทั้ง 3 รายการที่ระดับร้อยละ 50
อียูเป็นตลาดส่งออกผักสดแช่เย็น แช่แข็งที่สำคัญของไทย โดยในปี 2552 ไทยส่งออกสินค้าผักสดแช่เย็น แช่แข็งไปอียูมูลค่าประมาณ 1,350 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าผักสดแช่เย็น แช่แข็งไปทั่วโลก ลดลงจากปี 2551 ร้อยละ 17 สำหรับในปี 2553 (ม.ค. — ก.ค.) ไทยส่งออกสินค้าผักสดแช่เย็น แช่แข็งไปอียูมูลค่าประมาณ 690 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2552 ร้อยละ 15
ทั้งนี้ จากข้อมูลในระบบการแจ้งเตือนสินค้าอาหารของอียู พบว่าในช่วงเดือนมกราคม — สิงหาคม 2553 ที่ผ่านมา มีสารตกค้างที่ตรวจพบบ่อยในผักสดจากไทยคือ สาร dimethoate, omethoate (กำหนดให้ใช้ได้ในปริมาณรวมไม่เกิน 0.02 mg/kg ) และสาร dicrotophos (อียูไม่อนุญาตให้ใช้)
นางสาววิบูลย์ลักษณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อียูจะพิจารณาทบทวนมาตรการสุ่มตรวจสินค้าอย่างสม่ำเสมอและหากพบสินค้าไม่ได้มาตรฐานเพิ่มขึ้นอียูอาจปรับเพิ่มสัดส่วนการสุ่มตรวจได้ ฉะนั้นเพื่อให้สินค้าไทยสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดและเป็นที่เชื่อมั่นและยอมรับของผู้บริโภคในตลาดอียู ผู้ประกอบการไทยจึงควรเพิ่มความระมัดระวังในการใช้ยาฆ่าแมลงและสารกำจัดศัตรูพืชดังกล่าวข้างต้น รวมทั้งให้ความสำคัญกับสุขอนามัยในขั้นตอนการผลิตและบรรจุให้มากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงการปนเปื้อนของเชื้อซัลโมแนลล่าในผักสด