Xinhua's Interview: ผู้เชี่ยวชาญจาก OECD แนะการแชร์ประสบการณ์นโยบายหนุนศก.ขยายตัวยั่งยืน

ข่าวต่างประเทศ Friday September 10, 2010 16:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักเศรษฐศาสตร์ระดับอาวุโสแนะการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการเพิ่มความร่วมมือด้านนโยบายในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ของโลกจะช่วยสร้างปัจจัยหนุนที่เอื้อต่อการบรรลุเป้าหมายด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

ปิแอร์ คาร์โล พาโดแอน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และผู้ช่วยเลขาธิการขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) กล่าวให้สัมภาษณ์กับจาง ซิน และหลี่ หมิง ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวซินหัวว่า "ประเทศเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ ซึ่งรวมถึงประเทศจีนนั้นล้วนมีผลประโยชน์ร่วมกัน ดังนั้น การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านนโยบายในแต่ละประเทศจะช่วยให้ทุกประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายเดียวกันได้"

"หากทุกประเทศให้ความร่วมมือด้านนโยบายเศรษฐกิจ การกำหนดนโยบายเชิงโครงสร้างด้านเศรษฐกิจมหภาคและนโยบายด้านอัตราแลกเปลี่ยน ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ในแง่ของการเติบโตทางเศรษฐกิจ การเสริมสร้างความแข็งแกร่งภาคการเงินที่รวดเร็ว และในที่สุดทุกประเทศจะสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น" พาโดแอนกล่าวหลังเปิดเผยรายงานประเมินเศรษฐกิจโลกของ OECD

ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวระบุว่า เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้ช้าเกินคาด ซึ่ง OECD คาดการณ์ว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม (จี-7) จะชะลอตัวลงมาอยู่ในระดับ 1.5% ต่อปีในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ลดลงจากระดับคาดการณ์ในก่อนหน้านี้ที่ 1.75% และคาดว่าสหรัฐจะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ 2.0% ในไตรมาส 3 และ 1.2% ในไตรมาส 4 ของปีนี้

สำหรับการขยายตัวของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ซึ่งมีบทบาทอย่างมากต่อการพยุงเศรษฐกิจโลกให้ฟื้นตัวและรอดพ้นจากวิกฤตการเงินนั้นจะเริ่มอ่อนแรงลงเล็กน้อย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการใช้มาตรการคุมเข้มด้านนโยบาย แต่ในอนาคตประเทศในกลุ่มนี้จะมีอัตราการขยายตัวที่ดีกว่ามากเทียบกับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว

นอกจากนี้ เขาได้แสดงความเห็นถึงภาพรวมเศรษฐกิจที่ยังยุ่งเหยิงและไม่แน่นอนว่า ภาวะขาลงทางเศรษฐกิจเป็นเพียงปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งเขาเชื่อว่าหลายประเทศ รวมถึงจีนจะพยายามสร้างปัจจัยหนุนที่ดีต่อเศรษฐกิจ

"เศรษฐกิจจีนจะยิ่งขยายตัวใหญ่ขึ้นในปีต่อๆ ไป ซึ่งความเคลื่อนไหวเช่นนี้จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลก เพราะทุกคนจำเป็นต้องพึ่งพาการขยายตัวของประเทศเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ ที่สำคัญจีนต้องมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลเศรษฐกิจโลกให้มากขึ้น โดยเฉพาะในการประชุมจี20 ซึ่งจีนมีบทบาทอย่างมากบนเวทีดังกล่าว" นักเศรษฐศาสตร์จาก OECD กล่าวทิ้งท้าย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ