นายกฯ แนะกรมบัญชีกลางต้องปรับตัวเพื่อให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพสูงสุด

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 10, 2010 17:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในการเป็นประธานเปิดงานโครงการเสวนาทางวิชาการและปาฐกถาพิเศษหัวข้อ"120 ปี กรมบัญชีกลาง จากวันนี้...สู่อนาคต"เนื่องในโอกาสครบรอบวันคล้ายวันสถาปนา 120 ปี ของกรมบัญชีกลาง โดยระบุว่าปัญหาใหญ่ทั่วโลกในขณะนี้ คือ การควบคุมในเรื่องของหนี้สาธารณะ

การที่เราสามารถที่จะฟันฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้มาได้ โดยไม่ได้สร้างปัญหาในเรื่องของวิกฤตที่เกี่ยวข้องกับหนี้สาธารณะหรือความยั่งยืนในเรื่องของการเงินการคลังของประเทศ ซึ่งถือว่าทุกคนได้มีส่วนสำคัญในการบริหารจัดการให้ไม่เพียงแต่ประเทศฟันฝ่าวิกฤตเฉพาะหน้า แต่สามารถทำได้โดยไม่กระทบต่อศักยภาพของประเทศชาติบ้านเมืองและเศรษฐกิจในระยะกลางและระยะยาวด้วย

สิ่งท้าทายที่กรมบัญชีกลางจะต้องนำมาพิจารณาเพื่อเตรียมการในการรับมืออยู่หลายด้าน คือ 1.ความเปลี่ยนแปลงในเรื่องโครงสร้างของการบริหารจัดการในภาครัฐ จากเดิมที่อาศัยหน่วยงานที่อยู่ในรูปของหน่วยงานราชการ คือ กระทรวง ทบวง กรม เป็นหลักในการขับเคลื่อนในเรื่องของการบริหารงานภาครัฐ ปัจจุบัน หน่วยงานภาครัฐก็จะมีความหลากหลายมากขึ้น

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า จะเห็นว่างานหลายด้านได้มีการเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นการจ้างเหมาบริการ และงานหลายด้านก็ดำเนินการอยู่ในรูปของรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนหรือหน่วยงานรูปแบบพิเศษ และจะเห็นได้ว่าในเชิงโครงสร้างของระบบการเมืองก็มีการสร้างองค์กรที่เรียกกันว่า องค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญขึ้นมา ซึ่งก็มีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการงบประมาณ และต้องมีการผลักดันให้เกิดการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ซึ่งหมายถึงความสำคัญของการใช้จ่ายเงินภาครัฐผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็จะมีมากขึ้นโดยลำดับ

สิ่งสำคัญตรงนี้คือกฎ ระเบียบ ที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุง รวมถึงแนวปฏิบัติและวิธีการบริหารงานเกี่ยวกับการจ่ายเงินของแผ่นดินที่จะเป็นเงินในงบประมาณหรือเงินในรูปแบบของเงินอุดหนุน หรือการบริหารจัดการเงินนอกงบประมาณก็ตาม ซึ่งการใช้จ่ายเงินต่างๆ เหล่านี้เป็นไปในลักษณะที่ทำให้เกิดความมีประสิทธิภาพในเชิงการเงินการคลังด้วย ซึ่งคิดว่าเรายังสามารถที่จะมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงบรรดากฎระเบียบแนวปฏิบัติต่างๆ ให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ประการที่ 2 สิ่งที่เราคาดหมายคือ จากวันนี้เป็นต้นไปรัฐจำเป็นที่จะต้องเข้ามาดูแลงานที่เกี่ยวข้องกับงานสวัสดิการสังคมมากขึ้น การใช้จ่ายที่จำเป็นรายการสำคัญในงบประมาณที่จะเพิ่มขึ้นคือ บรรดาสวัสดิการต่างๆ ทั้งเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ ผู้ที่เจ็บป่วยหรือนโยบายส่งเสริมสนับสนุนสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน จะเป็นเรื่องของการศึกษาหรือเรื่องอื่น ๆ ก็ตาม และจะต้องมีการมาทบทวนในเรื่องของแนวปฏิบัติที่คิดว่าจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการบริหารจัดการ เช่น การจ่ายเงินให้แก่ผู้สูงอายุในปัจจุบันต้องดำเนินการผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ยังประสบกับปัญหาอยู่มาก โดยคณะกรรมการที่ดูแลเรื่องนี้ได้มีแนวความคิดที่จะผลักดันการโอนเงินโดยตรงเข้าสู่มือของประชาชนที่จะได้รับสิทธิต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งจะมาเชื่อมโยงกับการใช้เทคโนโลยีหรือการโอนเงินผ่านเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์อย่างนี้เป็นต้น

ทั้งนี้ การดำเนินการเรื่องนี้จะเป็นตัวบ่งชี้สำคัญหรือการนำร่องไปสู่การที่จะจ่ายเงินในลักษณะที่เป็นเรื่องของสิทธิของประชาชน ที่นับวันจะมีมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลมีเป้าหมายที่ชัดเจนที่จะสร้างระบบสวัสดิการให้มีความสมบูรณ์ตามสมควรภายในปี 2560 ซึ่งก็เหลือเพียง 6-7 ปีเท่านั้น

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงปัญหาสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการ ซึ่งเป็นรายการค่าใช้จ่ายงบประมาณที่มีขนาดใหญ่และเติบโตอย่างรวดเร็ว ที่ผ่านมาจะมีปัญหาอยู่เป็นระยะๆ แต่ก็มีความพยายามในการควบคุมค่าใช้จ่ายทางด้านนี้ ถ้าดูจากประวัติศาสตร์ประสบการณ์ที่ผ่านมาจะพบว่าได้มีการปรับปรุงกฎระเบียบ ออกมาตรการออกมา สามารถจะหยุดยั้งการเติบโต แต่จะเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ และย้อนกลับมาที่จะเติบโตอย่างรวดเร็วอีก ซึ่งปัญหานี้ก็ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะกับระบบของเรา แต่ว่าในต่างประเทศการควบคุมค่าใช้จ่ายในเรื่องของสวัสดิการการรักษาพยาบาลก็เป็นปัญหาใหญ่ ตรงนี้ก็ยังเป็นโจทย์สำคัญที่คิดว่ากรมบัญชีกลางและผู้ที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเข้าไปดู เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้ปัญหาต่างๆ เหล่านี้มันลุกลามออกไปในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ