กท.โพลล์เผยนักเศรษฐศาสตร์อยู่ให้ผู้ว่าฯ ธปท.คนใหม่แก้ปัญหาค่าเงินบาท

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 13, 2010 09:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ(กรุงเทพโพลล์) เผยนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ต้องการให้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เร่งเข้ามาดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาทและเสถียรภาพของราคาสินค้า แต่ยังเชื่อค่าเงินบาทไม่หลุด 30 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นมีโอกาสปรับตัวขึ้นไปแตะที่ระดับ 1,000 จุดภายในปีนี้

"ข้อเสนอนักเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับประเด็นปัญหาทางเศรษฐกิจของไทยที่ต้องการให้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่เข้ามาดูแลมากที่สุดคือ ดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาทและเสถียรภาพของราคาสินค้า(ร้อยละ 58.6) ดูแลธนาคารพาณิชย์ให้เกื้อกูลต่อเศรษฐกิจและคนในประเทศ(ร้อยละ 22.7) และดูแลการเข้าถึงโอกาสทางการเงิน โดยเฉพาะคนระดับรากหญ้าและ SMEs(ร้อยละ 9.4)" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

โดยนักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 67.1 เชื่อว่าภายในปีนี้ค่าเงินบาทจะยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในระดับที่สูงกว่า 30 บาท/ดอลลาร์โดยเฉลี่ย และให้เหตุผลที่เงินบาทปรับตัวแข็งค่ามาจากเงินทุนที่ไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น/ตลาดตราสารหนี้(ร้อยละ 31.3) การส่งออกที่ขยายตัวสูง/การเกินดุลการค้า(ร้อยละ 20.3) ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น/ส่วนต่างดอกเบี้ยของไทยและกลุ่มประเทศชั้นนำ(ร้อยละ 15.8)

ส่วนภาวะการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 58.9 เชื่อว่าจะได้เห็นดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่ระดับ 1,000 จุดภายในปีนี้ ซึ่งระดับดัชนีดังกล่าวนักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 43.8 เชื่อว่าเป็นระดับที่เหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐานและสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ แต่ร้อยละ 41.1 เชื่อว่าเป็นระดับที่สูงกว่าปัจจัยพื้นฐานและสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ

สำหรับความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวคิดการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 250 บาทต่อวันนั้น นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 64.4 สนับสนุนแนวคิดดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าระดับราคาสินค้าในปัจจุบันปรับเพิ่มขึ้นทำให้ประชาชนมีค่าครองชีพเพิ่มขึ้นซึ่งจะกระทบกับประชาชนผู้ใช้แรงงาน นอกจากนี้การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงานดีขึ้น ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

ทั้งนี้ กรุงเทพโพลล์สำรวจความเห็นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจประจำเดือน ก.ย.53 จากนักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานด้านการวิเคราะห์วิจัยเศรษฐกิจระดับชั้นนำของประเทศจำนวน 27 แห่ง โดยดำเนินการในช่วงระหว่างวันที่ 6-10 ก.ย.ที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ